ถ้าใครไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ คงคุ้นเคยกับคำว่า อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate) เป็นอย่างดี เพราะจำเป็นต้องแลกเงินบาทไปเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งการแลกเงินในแต่ละครั้ง ก็จะได้จำนวนเงินสกุลต่างประเทศมาไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยมาก
บางทีก็อาจเจอเหตุการณ์อย่างเช่นตอนแลกเงินได้เงินสกุลต่างประเทศน้อยเพราะค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่ตอนแลกคืนเป็นเงินบาทเมื่อกลับประเทศกลับได้เงินบาทคืนจำนวนมากเพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น สาเหตุที่เป็นอย่างนี้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง ตามค่าเงินที่แข็งขึ้นหรืออ่อนลงนั่นเอง
อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate) คืออะไร?
อัตราแลกเปลี่ยน คือ การเทียบราคาของเงินสกุลหนึ่งกับเงินอีกสกุลหนึ่ง โดยเทียบเป็นคู่กัน เช่น 100 เยน เท่ากับ 30 บาท โดยอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงเสมอขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศนั้นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น ปัจจัยนี้มีผลต่อกำไรหรือการขาดทุนของธุรกิจ รวมถึงผู้ที่ลงทุนซื้อขายในตลาด FOREX ที่เป็นการเก็งกำไรในค่าเงินด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าหมั่นศึกษาและติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินของประเทศที่เราเป็นคู่ค้าทางธุรกิจอยู่ ก็จะสามารถจัดการวางแผนล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FOREX)

อัตราแลกเปลี่ยนดูอย่างไร?
อัตราแลกเงินมีอยู่ 2 แบบ คือ Selling Rate (อัตราซื้อ) และ Buying (อัตราขาย) มีความหมายและวิธีการดูอัตราแลกเปลี่ยนดังนี้
1. Selling Rate (อัตราซื้อ)
Selling Rate เป็นราคาที่ธนาคารขาย เช่น ต้องการซื้อเงินสำหรับไปเที่ยวต่างประเทศ ธนาคารจึงขายเงินสกุลต่างประเทศให้เรา
- วิธีการดู : ช่อง Selling Rate จะมีตัวเลขมากกว่าช่อง Buying Rate
- วิธีการคำนวณ :
- กรณีแลกเงินไปต่างประเทศ นำจำนวนเงินไทย “หาร” ด้วยเรท Selling
- กรณีใช้จ่ายที่ต่างประเทศแล้วต้องการทราบค่าเงินเป็นเงินไทย นำเงินต่างประเทศ “คูณ” ด้วยเรท Selling
2. Buying (อัตราขาย)
Buying Rate เป็นราคาที่ธนาคารรับซื้อ เช่น หลังเรากลับมาจากต่างประเทศ ต้องการขายเงินสกุลต่างประเทศเป็นเงินไทย ธนาคารจะรับซื้อเงินจากเรา
- วิธีการดู : ช่อง Buying Rate จะมีตัวเลขน้อยกว่าช่อง Selling Rate
- วิธีการคำนวณ : กรณีแลกเงินตอนกลับประเทศ นำจำนวนเงินต่างประเทศ “คูณ” ด้วยเรท Buying
ค่าเงินแข็ง ค่าเงินอ่อนคืออะไร?
ก่อนจะพูดถึงเรื่องค่าเงินแข็งและค่าเงินอ่อน ต้องอธิบายก่อนว่า ค่าเงินแข็งและค่าเงินอ่อน เกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างเงินตราสองสกุล ซึ่งจะมีค่าเงินไปในทิศทางตรงกันข้ามกันเสมอเมื่อเทียบกัน โดยมีความหมายดังนี้
ค่าเงินแข็ง
ค่าเงินแข็ง คือ เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถแลกเงินสกุลต่างประเทศได้มากขึ้นตาม ยกตัวอย่างเช่น เดิมเงิน 35 บาท แลกได้ 100 เยน แต่ปัจจุบัน เงิน 30 บาท แลกได้ 100 เยน แปลว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้น เพราะเงินตราต่างประเทศในจำนวนเท่าเดิม ใช้เงินบาทจำนวนน้อยลงในการแลกซื้อ
ค่าเงินอ่อน
ค่าเงินอ่อน คือ เงินจำนวนเท่าเดิมที่มีมูลค่าน้อยลง ทำให้สามารถแลกเงินสกุลต่างประเทศได้น้อยลงตาม ยกตัวอย่างเช่น เดิมเงิน 30 บาท แลกได้ 100 เยน แต่ปัจจุบันเงิน 35 บาท แลกได้ 100 เยน แปลว่าค่าเงินบาทอ่อนลง เพราะเงินตราต่างประเทศในจำนวนเท่าเดิม ใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้นในการแลกซื้อ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินแข็งหรืออ่อนลง มีดังนี้
ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น
- เงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศ กล่าวคือมีการส่งออก หรือการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติมาก ทำให้เงินตราภายในประเทศเป็นที่ต้องการ ค่าเงินจึงแข็งขึ้น
- เงินภายในประเทศไหลออกนอกประเทศในอัตราที่ต่ำ กล่าวคือมีความต้องการการนำเข้าต่ำ
ปัจจัยที่ทำให้เงินอ่อนลง
- มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาก เพราะต้องแลกเงินเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ความต้องการในเงินสกุลต่างประเทศก็จะสูงขึ้น เงินภายในประเทศจึงมีค่าอ่อนลง
โดยทั้งค่าเงินอ่อนและค่าเงินแข็ง มีสองปัจจัยร่วมกันคือความเชื่อมั่น เช่น ชาวต่างชาติเชื่อมั่นในค่าเงินบาท ค่าเงินบาทก็จะแข็งขึ้น หรือถ้าสูญเสียความเชื่อมั่น ค่าเงินบาทก็จะอ่อนตัวลง และอีกปัจจัยคือการแทรกแซงของธนาคารกลางนั่นเอง
สามารถแลกเงินต่างประเทศได้ที่ไหน?
การแลกเงินสามารถแลกได้ที่ธนาคารที่มีจุดบริการ ร้านแลกเงิน เช่น SuperRich และสนามบิน โดยก่อนจะแลกเงิน แนะนำให้ดูเรทราคาในเว็บไซต์ หรือโทรไปสอบถามก่อนว่ามีสกุลเงินที่ต้องการจะแลกหรือไม่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ในส่วนของเอกสารที่ต้องเตรียม มีดังนี้
- ถ้าจะไปซื้อเงินสกุลต่างประเทศ ต้องเตรียมสำเนาพาสปอร์ตไปด้วยทุกครั้ง และเอกสารอื่นๆ เช่น ตั๋วเครื่องบิน และบัตรประชาชน โดยพาสปอร์ต 1 เล่ม แลกเงินได้จำนวน 5,000 USD
- ถ้าจะขายเงินสกุลต่างประเทศ ต้องเตรียมสำเนาบัตรประชาชน โดยแลกได้ไม่จำกัดจำนวน
เมื่อทราบข้อมูลดังนี้แล้ว ไม่ว่าจะนักลงทุน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว หรือคนธรรมดาทั่วๆ ไป ก็คงได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนทางการเงินหรือการลงทุนในอนาคต เพราะเรื่องค่าเงินอ่อนหรือแข็งขึ้น เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และถ้าเราเห็นโอกาสในการลงทุนจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ก็คงจะได้กำไรไม่น้อยทีเดียว