ผู้ที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงิน หรือให้เงินทำงานแทนในระยะยาวเพื่อลดภาระงานที่ต้องทำเพื่อหารายได้ในแต่ละวัน ย่อมทำการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เพื่อหาการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นที่สนใจศึกษาสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะในโลกที่จำเป็นต้องก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปทุกวัน จึงไม่แปลกที่จะมีการคิดค้นสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นเพื่อความก้าวหน้าอีกระดับ โดยตัวอย่างสินทรัพย์ดิจิทัลยกตัวอย่างที่คงคุ้นหูคุ้นตาคนทั่วไปก็เช่น Bitcoin ซึ่งเริ่มมีความนิยมมากขึ้น โดยมีระบบในการซื้อขายที่แตกต่างจากการลงทุนแบบอื่นๆ ซึ่งผู้ลงทุนต้องทำความศึกษาเข้าใจให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน
สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital asset) คืออะไร?
สินทรัพย์ดิจิทัล คือ หน่วยดิจิทัลสมมุติที่มีอยู่อย่างจำกัดและมีคนต้องการ จึงทำให้หน่วยสมมุตินี้มีค่าขึ้นมา ลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลมีส่วนที่เหมือนกับสินทรัพย์อื่นๆ คือ เป็นสิ่งที่มีมูลค่า ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ บุคคลสามารถเข้าถึงได้ แต่สินทรัพย์ดิจิทัลมีข้อแตกต่างคือ จับต้องไม่ได้ และไม่มีหมายเลขกำกับหน่วย และจะมีการบันทึกประวัติการเปลี่ยนถ่ายผู้ถือครองไว้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถแบ่งได้ดังนี้
- คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แทนเงินได้ นับเป็นสกุลเงินดิจิทัล คำว่า Cryptocurrency มาจากการรวมคำว่า Cryptography และ Currency เข้าด้วยกัน ความหมายภาษาไทยคือ สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส กล่าวคือมันเป็นสิ่งไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ แต่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ โดยสามารถเห็นเป็นตัวเลขได้เท่านั้นยกตัวอย่างคริปโทเคอร์เรนซี เช่น Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกๆ ที่เกิดขึ้น ความพิเศษของเงินสกุลนี้คือไม่มีสถาบันการเงินใดได้สิทธิ์ขาดในการควบคุมการทำธุรกรรม เพราะต้องได้รับการยินยอมจากคนในระบบ เปรียบเสมือนการทำให้เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง
- โทเคนดิจิทัล (Digital Tokens) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน เช่น JFIN, Coin, และ Tuk Tuk Pass-A ใช้สำหรับเสนอขายเพื่อการระดมทุน หรือ ICO
การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
ICO (Initial Coin Offering) คือการระดมทุนแบบ Crowdfunding โดยการเสนอขาย โทเคนดิจิทัล (Digital Tokens) ให้กับบุคคลทั่วไปผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งสามารถซื้อโดยใช้ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin และ Ethereum ซึ่งในการทำ ICO นั้นประกอบด้วย
- ผู้ระดมทุน (ICO Issuer) คือ ผู้ที่ต้องการระดมทุนด้วย ICO เนื่องจาก ICO เป็นการระดมทุนที่ทำให้เข้าถึงเงินทุนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) อย่างมาก ซึ่งเฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนเท่านั้นถึงสามารถทำ ICO ได้ และตามกฎหมายแล้วต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน รวมทั้งได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ด้วย
- ผู้กลั่นกรอง (ICO Portal) คือ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล มีหน้าที่กลั่นกรอง ICO ที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุน และต้องพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย โดยผู้ระดมทุน (ICO Issuer) ต้องเสนอขายผ่านผู้กลั่นกรอง ส่วนผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อโทเคนดิจิทัลต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. พร้อมทั้งได้รับความเห็นชอบจึงสามารถลงทุนได้
ตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
- ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) คือ ศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ใช่ในนามตนเอง โดยอำนวยความสะดวกโดยการหาคู่สัญญา หรือจับคู่ให้
- นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) คือ ผู้ให้บริการเป็นนายหน้าในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาจส่งคำสั่งไปที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้
- ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) คือ ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนในนามตนเอง
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่เพียงแต่ต้องรู้ในด้านการลงทุน การบริหารจัดการเงินเท่านั้น แต่ยังต้องรู้ให้รอบด้าน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าสินทรัพย์แต่ละแบบมีลักษณะเป็นอย่างไร และควรเลือกลงทุนแบบไหนจึงจะเหมาะกับเรานั่นเอง