สำหรับคนที่ต้องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเพื่อทำธุรกิจ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ในการจะขอสินเชื่อสักอย่าง เอกสารเกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินโดยทั่วไปที่เราต้องเตรียมก็คือสลิปเงินเดือนหรือบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือนกรณีประกอบอาชีพอิสระ เพื่อให้สถาบันทางการเงินดูความสม่ำเสมอของรายได้ แต่อีกสิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้ก็คือ “เครดิตบูโร” ซึ่งทำให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบประวัติทางการเงินของเราได้เกือบทั้งหมด และเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญในการนำมาพิจารณาว่าจะอนุมัติสินเชื่อให้เราหรือไม่ ซึ่งแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินก็อาจมีเกณฑ์พิจารณาที่แตกต่างกันไปด้วย
เครดิตบูโรคืออะไร? เก็บข้อมูลอะไรบ้าง?
เครดิตบูโร ย่อมาจาก National Credit Bureau คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เป็นองค์กรกลางที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อและข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร นำมาประมวลผลเป็นข้อมูลเครดิต โดยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการข้อมูลเหล่านี้ในกรอบกฎหมาย พรบ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545
ผู้ที่สามารถเข้าดูข้อมูลได้คือสถาบันทางการเงินที่เป็นสมาชิก โดยสามารถดูรายละเอียดสินเชื่อ พฤติกรรมทางการเงิน ภาระหนี้ต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการเช็คข้อมูลเครดิตของตนเอง แต่จะดูข้อมูลของผู้อื่นไม่ได้ เช่น เจ้าหนี้จะดูข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ไม่ได้
สำหรับในส่วนของข้อมูลที่เครดิตบูโรเก็บไว้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
- ข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ เลขที่บัตรประชาชน วันเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ แต่จะไม่มีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบุคลได้ เช่น ลักษณะทางร่างกาย หรือประวัติคดีอาญา
- ประวัติเกี่ยวกับสินเชื่อ เช่น การขอสินเชื่อ การได้รับอนุมัติสินเชื่อ การชำระสินเชื่อ ข้อมูลการชำระเงินต่างๆ โดยรวมถึงสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเงินสด การเช่าซื้อรถยนต์ การค้ำประกัน การซื้อขายหลักทรัพย์ จะถูกบันทึกประวัติย้อนหลังไว้ไม่เกิน 36 เดือน โดยแสดงข้อมูลในส่วนของหนี้สินเท่านั้น แต่ไม่แสดงข้อมูลส่วนที่เป็นทรัพย์สิน
ในส่วนของบริการสาธารณูปโภค คือ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ค่ายบริษัทมือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร การค้างชำระเงินในส่วนที่กล่าวมาจึงไม่เกี่ยวข้องกับเครดิตบูโร
เครดิตบูโรมีความสำคัญอย่างไรในการขอสินเชื่อ?
เครดิตบูโรมีข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อ ภาระหนี้สิน พฤติกรรมการใช้เงิน ซึ่งสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะสามารถดูข้อมูลดังกล่าวของผู้มายื่นขอสินเชื่อได้ เพื่อเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาว่าจะอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ ดังนั้นข้อมูลเครดิตของเราจึงมีความสำคัญมาก เช่น ถ้ามีหนี้ค้างชำระเกินกำหนด ทางสถาบันทางการเงินที่เรายื่นกู้สินเชื่อไปก็อาจพิจารณาไม่ให้สินเชื่อได้ เพราะเห็นว่าพฤติกรรมการเงิน และภาระหนี้สินไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขในการขอสินเชื่อ
ติดเครดิตบูโรคืออะไร? แก้ได้อย่างไร?
เราคงคุ้นหูกับคำว่า “ติดเครดิตบูโร” หรือ “ติดแบล็คลิส” ที่เป็นภาษาปากสำหรับการทวงหนี้ หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ปฏิเสธไม่ให้สินเชื่อโดยยกเหตุผลนี้มาพูด แท้จริงเป็นคำพูดที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงตัดสินใจไม่อนุมัติสินเชื่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าเครดิตบูโรมีสิทธิ์ในการพิจารณาให้หรือไม่ให้สินเชื่อ
คำว่า “แบล็คลิส” ในระบบของเครดิตบูโร คือการมีหนี้ค้างชำระ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เช่น หนี้ค้างชำระ 90 วัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อสถาบันทางการเงินเห็นข้อมูลนี้ก็อาจพิจารณาไม่ให้สินเชื่อได้นั่นเอง
ในกรณีที่เราติดเครดิตบูโรหรือแบล็คลิสวิธีแก้มีอยู่ 2 วิธี คือ
- ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ให้หมด เมื่อชำระครบก็รอให้ประวัติได้รับการอัพเดทและปลดจากบัญชีค้างชำระ
- รอให้หมดรอบการบันทึกข้อมูล โดยตามกฎหมายเครดิตบูโร จะสามารถเก็บข้อมูลเอาไว้ได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้จะส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรนับจากวันผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งกรณีที่ข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ในเครดิตบูโรมีอายุมากกว่า 8 ปีนับตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 90 วัน เครดิตบูโรจะหยุดการบันทึกข้อมูล
เช็คเครดิตบูโรได้ที่ไหน?
สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากเช็คเครดิตบูโรของตนเอง ให้เตรียมบัตรประชาชน พร้อมเงินค่าบริการ 100 บาท ไปตรวจสอบที่จุดบริการและรอรับผลได้เลย ตามสถานที่ต่อไปนี้
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาคาร 2 ชั้น 2
วันทำการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
- ปากซอยสุขุมวิท 25 อาคารกลาสเฮ้าส์ (ชั้นใต้ดิน)
วันทำการ จันทร์-ศุกร์ เวลา09.00-16.30 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
- สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
วันทำการ จันทร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-18.00 น.
- ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 4 ติดประกันสังคม
วันทำการ จันทร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-18.00 น.
- CITI เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน, ศูนย์การค้าเมกา บางนา
วันทำการ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 19.00 น.
หรือถ้าไม่สะดวกไปตามสถานที่ข้างต้น เราก็สามารถตรวจเช็คเครดิตบูโรผ่านอินเตอร์เน็ตได้ ผ่าน Internet Banking ของธนาคารที่ร่วมรายการ โดยใช้ข้อมูลจากบัตร ATM ประกอบ นอกจากนี้ยังสามารถทำการขอเช็คเครดิตผ่านตู้ ATM ในบางธนาคารได้ เพียงแต่อาจใช้เวลานานกว่าวิธีอื่นๆ เนื่องจากต้องรอผลจากทางไปรษณีย์นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าเครดิตบูโรมีความสำคัญต่อการติดต่อขอสินเชื่อต่างๆ ดังนั้นใน 1 ปี เราควรตรวจเช็คเครดิตบูโรของตนเองอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ หากมีข้อบกพร่องจะได้แก้ไขได้ทัน เมื่อต้องไปติดต่อขอสินเชื่อจะได้มีข้อมูลเครดิตที่สามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปแก้ไขอีก
บทความแนะนำ
- เครดิตบูโรคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรในการขอสินเชื่อ?
- บัตรเครติต และ บัตรกดเงินสด คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- ข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต…ใช้บัตรเครดิตให้ถูกวิธี ได้ประโยชน์และคุ้มค่า
- รีไฟแนนซ์รถยนต์ คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?
- รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?
- ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MRR, MOR คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- การปรับโครงสร้างหนี้ ขอประนอมหนี้คืออะไร? ดีหรือไม่?