สิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญหายของการพกเงินสดไปไหนมาไหนจำนวนมากคือ เช็ค (Cheque) หรือ ตราสารในรูปแบบหนึ่งที่ธนาคารเป็นผู้ออกให้ ทั้งนี้เช็คมีหลากหลายประเภท รวมถึงแคชเชียร์เช็ค (Cashier Cheque) ซึ่งผู้รับไม่ต้องกังวลว่าจะขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้หรือที่เรียกว่าเช็คเด้งนั่นเอง
เนื่องจากการพกเงินสดจำนวนมากเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่นิยมทำกัน เพราะเสี่ยงต่อการสูญหาย ไม่ว่าจะเพราะลืมทิ้งไว้หรือถูกขโมย ดังนั้นการพกเงินสดจึงนิยมพกกันทีละน้อยๆ อย่างมากก็แค่ไม่กี่พันบาทเท่านั้น แต่การใช้จ่ายบางอย่างก็ต้องใช้เงินสดจำนวนมากๆ อย่างเช่น การชำระเงินกู้บ้าน วางเงินดาวน์ซื้อรถยนต์ จ่ายเงินในการทำธุรกิจ การใช้แคชเชียร์เช็ค จึงช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี
หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แคชเชียร์เช็คคืออะไร? ต่างกับเช็คทั่วไปอย่างไร? ซึ่งในบทความนี้เราจะมาอธิบายให้หายสงสัยกัน
แคชเชียร์เช็ค (Cashier Cheque) คืออะไร?
แคชเชียร์เช็คเป็นเช็คประเภทหนึ่งที่ธนาคารสั่งจ่ายโดยมีเงินสดอยู่ตามจำนวนที่ระบุในเช็ค และมีการระบุชื่อผู้รับไว้อย่างชัดเจน ซึ่งวิธีซื้อแคชเชียร์เช็ค ซื้อได้ทั้งเงินสดหรือหักบัญชีเงินฝากเท่าจำนวนที่ระบุในเช็คให้กับธนาคารพร้อมค่าธรรมเนียม ผู้ขายแคชเชียร์เช็คต้องเป็นธนาคารเสมอ ส่วนผู้รับเงินเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในเช็ค
แคชเชียร์เช็คมีประโยชน์อย่างมาก คือ ใช้พกแทนเงินสดจำนวนมาก ไม่ต้องเสียเวลานับเงิน ถ้าสูญหายก็มั่นใจได้ว่าเงินจะไม่หายไป เพราะผู้รับเงินต้องตรงกับในเช็คเท่านั้น ถึงจะรับเงินได้ และแคชเชียร์เช็คยังไม่มีวันหมดอายุด้วย นอกจากนี้ยังมีค่าธรรรมเนียมเพียงเล็กน้อย ประมาณ 20 บาทในการซื้อแคชเชียร์เช็ค จึงช่วยอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดีทั้งผู้จ่ายเงินและรับเงิน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการนำเงินไปทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ดาวน์รถยนต์ ซื้อบ้าน
แคชเชียร์เช็คต่างกับเช็คทั่วไปอย่างไร?
แคชเชียร์เช็คกับเช็คทั่วไป มีข้อแตกต่างหลากหลายประการ ดังนี้
1. แคชเชียร์เช็คเปรียบได้กับบัตรเดบิต
แคชเชียร์เช็คเปรียบได้กับบัตรเดบิต เพราะมีเงินอยู่ในเช็คเสมอ เนื่องจากผู้ซื้อได้ซื้อแคชเชียร์เช็คกับทางธนาคารตามจำนวนเงินที่ระบุแล้ว ไม่มีทางเช็คเด้งยกเว้นธนาคารนั้นล้มละลายไปเสียก่อน ขณะที่เช็คทั่วไปเปรียบได้กับบัตรเครดิต ซึ่งเจ้าของเช็คอาจมีหรือไม่มีเงินในบัญชีก็ได้ จึงมีโอกาสเกิดเช็คเด้งได้
2. ธนาคารเป็นทั้งผู้สั่งจ่ายและผู้จ่ายเงิน
สำหรับแคชเชียร์เช็ค ธนาคารเป็นทั้งผู้สั่งจ่ายและผู้จ่าย ขณะที่เช็คทั่วไป ผู้สั่งจ่ายอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ส่วนผู้จ่ายเป็นธนาคารเสมอ
3. ไม่ต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร
ผู้ออกแคชเชียร์เช็คไม่ต้องเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่จะออกแคชเชียร์เช็ค ขณะที่เช็คทั่วไป ผู้ขอออกเช็คต้องมีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารที่จะออกเช็ค
จะเห็นได้ว่าการใช้แคชเชียร์เช็คมีข้อดีกว่าเช็คทั่วไป คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถใช้ได้ และไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันก็สามารถออกเช็คได้ จึงสะดวกสบายกว่ามาก และมีความน่าเชื่อถือตรงที่เช็คจะไม่เกิดการเด้ง ผู้รับได้รับเงินแน่นอน ทำให้สบายใจทั้งผู้ให้ผู้รับทีเดียว
บทความแนะนำ
- เครดิตบูโรคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรในการขอสินเชื่อ?
- บัตรเครติต และ บัตรกดเงินสด คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- ข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต…ใช้บัตรเครดิตให้ถูกวิธี ได้ประโยชน์และคุ้มค่า
- รีไฟแนนซ์รถยนต์ คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?
- รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?
- ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MRR, MOR คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- การปรับโครงสร้างหนี้ ขอประนอมหนี้คืออะไร? ดีหรือไม่?