ช่วงต้นปีเป็นช่วงที่ผู้มีรายได้ต้องยื่นเสียภาษี ถ้าพูดถึงวิธีการลดหย่อนภาษี หลายคนคงนึกถึงการทำประกันลดหย่อนภาษีขึ้นมาเป็นอย่างแรก ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ แต่ประกันเหล่านี้ก็มีเงื่อนไขการลดหย่อนที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เรามาดูกันว่าประกันชนิดไหนลดหย่อนภาษีได้เท่าไรกันบ้าง
ประกันชีวิต
เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกวัน การทำประกันชีวิตจึงเป็นตัวเลือกของผู้ที่วางแผนอนาคตระยะยาวไว้ให้กับคนในครอบครัวหรือคนข้างหลัง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันชีวิต) ประกันชีวิตมีหลายรูปแบบโดยแบบที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) คือ การทำประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองระยะยาว หรือตลอดอายุของผู้ซื้อ โดยเราจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นเวลาช่วงหนึ่ง เช่น 15 – 20 ปี หรือจ่ายเบี้ยจนถึงอายุ 90 – 99 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแผนประกัน โดยประกันชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่วางแผนครอบครัวสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวระยะยาว
- ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) เป็นการทำประกันชีวิตที่เน้นความคุ้มครองระยะสั้น โดยเราสามารถเลือกช่วงเวลาจ่ายค่าเบี้ยประกันและช่วงเวลาที่ต้องการรับความคุ้มครองได้ เช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี เบี้ยประกันค่อนข้างต่ำ มักเป็นการจ่ายแบบปีต่อปี แต่ไม่สามารถเวนคืนได้ และจะได้รับเงินผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิตในช่วงที่กรมธรรม์คุ้มครองอยู่เท่านั้น ประกันรูปแบบนี้จึงเหมาะกับผู้ที่มีงบจำกัด
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) คือ ประกันที่เน้นการออมเงิน โดยได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ เลือกได้ทำได้ตั้งแต่ 3 – 5 ปี หรือแบบระยะยาว 25 – 30 ปี ประกันชนิดนี้เน้นการเก็บเงินเพื่อใช้ในอนาคตเป็นหลักจึงเหมาะกับผู้ที่มีเป้าหมายและต้องการสร้างวินัยทางการเงิน
ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่าไร?
ประกันชีวิตสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันรายปี อีกทั้งต้องเป็นประกันชีวิตที่ไม่ถูกเวนคืนกรมธรรม์ก่อนอายุครบสัญญา หากยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา จะต้องคืนเงินให้กับกรมสรรพากรเป็นภาษีที่เคยลดหย่อนพร้อมดอกเบี้ยอีก 1.5%
ประกันสุขภาพ
ประกันสุขภาพเป็นรูปแบบประกันยอดนิยม เพราะเรื่องเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้การทำประกันสุขภาพเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นทางเลือกหลักของใครหลายๆ คน เพราะได้ทั้งลดภาษีและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสุขภาพ) แต่การทำประกันสุขภาพไปลดหย่อนนั้นต้องมีเงื่อนไขดังนี้
- ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากความเจ็บป่วยและบาดเจ็บ และชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลการทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- ประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
- ประกันภัยการดูและระยะยาว (Long Term Care)
ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไร?
เบี้ยประกันสุขภาพสามารนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ถ้าหากรวมกับการลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทั้งนี้เนื่องจากข้อกำหนดของกรมสรรพากร เราก็ต้องแจ้งความประสงค์กับบริษัทประกันหรือตัวแทนว่าต้องการลดหย่อนภาษี เพื่อให้บริษัทนำข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่กรมสรรพากร หากไม่แจ้งความประสงค์ก็อาจทำให้ไม่สามารถหักค่าลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันได้
ประกันบำนาญ
ประกันชีวิตบำนาญ คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งจะต้องออมเงินอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ได้รับเงินคืนอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่เกษียณไปจนถึงช่วงเวลาที่ระบุในกรมธรรม์ ประกันชนิดนี้มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีมากกว่าประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ได้แก่
- ต้องเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- เป็นประกันที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์
- จ่ายผลประโยชน์สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเท่ากันทุกงวด หรือในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา
- เป็นประกันที่จ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป (ตามที่ระบุในกรมธรรม์)
ประกันบำนาญลดหย่อนภาษีได้เท่าไร?
ค่าเบี้ยประกันบำนาญสามารถใช้ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของจำนวนเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี (สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี) แต่เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
การทำประกันเพื่อลดหย่อนภาษีนั้นถือเป็นผลพลอยได้จากการทำประกัน เพราะประโยชน์ของการทำประกันคือการกระจายความเสี่ยงทั้งชีวิตและสุขภาพ รวมถึงเป็นการสร้างระเบียบวินัยทางการเงินเพื่ออนาคต อย่างไรก็ตามก่อนทำประกันก็ควรจะศึกษารายละเอียดของประกันแต่ละประเภท เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดในอนาคต