สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำประกันส่วนตัวเอาไว้ ไม่ว่าจะประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ์ประกันสังคมได้ในกรณที่เจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษา โดยประกันสังคมเป็นสิ่งที่ลูกจ้างที่มีเงินเดือนเป็นรายเดือนต้องจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อจะได้รับหลักประกันคุ้มครองความเสี่ยงกลับมา แต่ทั้งนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัวหรือฟรีแลนซ์ ก็สามารถส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับสิทธิ์คุ้มครองได้เช่นกัน โดยมีสิทธิมากมาย เช่น ค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย บำเหน็จบำนาญวัยชรา ไปจนถึงการเสียชีวิต
ประกันสังคมคืออะไร?
ประกันสังคม คือ สวัสดิการที่รัฐมอบให้ลูกจ้าง ถือเป็นหลักประกันของคนมีรายได้ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยหักจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน หรือ 9,000 บาทต่อปี ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีสำนักงานประกันสังคมเมื่อ พ.ศ. 2480 และให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 เพื่อให้คุ้มครองความเสี่ยงของลูกจ้างทั้งจากการว่างงาน เจ็บป่วย การคลอดบุตร การเสียชีวิต ไปจนถึงเงินสงเคราะห์ยามแก่ชรา และค่าชดเชยอื่นๆ ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมมีดังนี้
- ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นนายจ้างยังให้ทำงานต่อจึงถือเป็นผู้ประกันตนต่อไป โดยแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ผู้ประกันตนภาคบังคับ เป็นผู้ทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างในสถานประกอบการที่มีพนักงาน 1 คนทั่วไป หรือหมายถึงพนักงานเอกชนทั่วไป
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 แทน ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องเคยส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ ทำงานอาชีพอิสระ เช่น ฟรีแลนซ์ หรือแรงงานนอกระบบ รวมถึงบุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39
- นายจ้าง คือ ผู้ที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน
- เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลร่วมสมทบด้วยส่วนหนึ่ง
การส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
การชำระเงินของผู้ประกันตนมาตรา 33 (ผู้ประกันตนภาคบังคับ)
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (Bill Payment) มีธนาคารที่ให้บริการ 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย
- ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าระบบ e-Payment มีธนาคารให้บริการ 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด ธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย
การชำระเงินของผู้ประกันตนมาตรา 39 (ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ)
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (Bill Payment) มีธนาคารที่ให้บริการ 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย
- ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าระบบ e-Payment มีธนาคารให้บริการ 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด ธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย
- หักบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนมาตรา 39 มีธนาคารที่บริการ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมหักบัญชีเงินฝาก รายการละ 10 บาท
- ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ด้วยระบบ Pay at Post มีที่ทำการไปรษณีย์ที่ให้บริการ 3 แห่ง ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์จตุจักรหลักสี่ และรามอินทรา
- ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์
การชำระเงินของผู้ประกันตนมาตรา 40 (ผู้ประกันตนที่ประกอบอาชีพอิสระ)
- ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ชำระได้ด้วยเงินสดที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และเคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์
- หักบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตนมาตรา 40 ชำระได้เฉพาะเงินสมทบงวดปัจจุบันเท่านั้น มีธนาคารที่ให้บริการ 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
การชำระเงินกองทุนเงินทดแทนของนายจ้าง
- ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (Bill Payment) ชำระได้เฉพาะเงินสมทบ โดยธนาคารออกใบเสร็จรับเงินให้ทันที มีธนาคารที่ให้บริการ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย
สิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจะได้รับ
1. กรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งเจ็บป่วยทั่วไป เจ็บป่วยฉุกเฉิน และอุบัติเหตุ ผู้ประกันตนสามารถได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ ถ้าเป็นเหตุฉุกเฉินสามารถไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และสำรองจ่ายก่อนแล้วนำหลักฐานมาเบิกตามอัตราที่กำหนด
หากหยุดทำงานเพื่อรักษาตัว มีสิทธิรับเงินทดแทน 70% ของเงินเดือน (ฐานค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท) ตั้งแต่หยุดงานวันแรก โดยต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุให้พักรักษาตัว และได้รับเงินต่อเนื่องไม่เกิน 1 ปี
2. กรณีคลอดบุตร
ผู้ประกันตนเบิกค่าคลอดบุตรได้ครั้งละ 13,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีลาคลอด 50% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90 วันสำหรับบุตรคนที่ 1 และคนที่ 2 เท่านั้น
3. กรณีทุพพลภาพ
หากเป็นกรณีร้ายแรงจะได้เงินทดแทนขาดรายได้ 50% ของเงินเดือนตลอดชีวิต และถ้าไม่ร้ายแรงจะได้รับเงินชดเชยหยุดงานเพิ่มเป็น 70% ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาจ่ายเงินทดแทนเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี และได้รับเงินบำเหน็จชราภาพหากมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
4. กรณีเสียชีวิต
ผู้จัดงานศพสามารถเบิกค่าทำศพได้ 40,000 บาท ส่วนเงินสงเคราะห์จะจ่ายให้บุคคลที่มีชื่อระบุในหนังสือเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ เป็นจำนวนค่าจ้าง 2 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่ายเงินสมทบ 36 เดือนขึ้นไป และเป็นจำนวนค่าจ้าง 6 เดือน หากผู้เสียชีวิตจ่าย 120 เดือนขึ้นไป และทายาทสามารถขอรับเงินคืนกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
ผู้ประกันตนที่มีบุตรที่มีอายุตั้งแต่ 0-6 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 400 บาท และสามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน
6. กรณีชราภาพ
แบ่งได้เป็น 2 แบบคือ บำเหน็จ หรือ บำนาญ โดยผู้ประกันตนต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ผู้ประกันตนที่ได้รับบำนาญชราภาพ ต้องจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 180 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกันทั้งหมด เงินบำนาญที่ได้รับคือ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าจ่ายสมทบเกิน 180 เดือน เงินบำนาญชราภาพจะปรับเพิ่ม 1.5% สำหรับเงินสมทบที่จ่ายเกิน 180 เดือน กรณีผู้รับเงินบำนาญเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
ผู้ประกันตนที่ได้รับบำเหน็จชราภาพ ถ้าจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จเท่าเงินสมทบที่จ่ายไป แต่ถ้ามากกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินสมทบที่จ่ายไป รวมกับเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
7. กรณีว่างงาน
ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางานภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ถูกลาออกหรือถูกเลิกจ้าง
ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน โดยเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลา 180 วัน ส่วนผู้ประกันตนที่ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกันต้องส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน
จะเห็นได้ว่าสิทธิประกันสังคมส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายกับประกันสุขภาพ และมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ เกี่ยวกับการทำงานเพิ่มเติมมาด้วย ส่วนการขอรับสิทธิประกันสังคมทุกครั้ง จำเป็นต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมตามที่สำนักงานประกันสังคมระบุไว้ ดังนั้นควรตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อนไปรับสิทธิเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากหรือเสียเวลาภายหลัง