การเก็บเงินสดไว้ในที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่อการถูกขโมยได้ง่าย และยังไม่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากอีกด้วย การเปิดบัญชีเงินฝากจึงมีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งบัญชีเงินฝากธนาคารมีหลายประเภท และมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามการใช้งาน โดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนมักใช้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังมีเงินฝากประเภทอื่นๆ อีกที่เหมาะแก่การออมเงิน ใช้สำหรับประกอบธุรกิจ รวมไปถึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนแบบความเสี่ยงน้อยมากอีกด้วย หากเราทราบคุณสมบัติที่แตกต่างกันของเงินฝากแต่ละประเภท ย่อมได้ประโยชน์ทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจะแนะนำรายละเอียดของเงินฝากแต่ละประเภทดังนี้
ประเภทเงินฝากธนาคาร
1. เงินฝากออมทรัพย์ (เงินฝากเผื่อเรียก)
เงินฝากออมทรัพย์เป็นการฝากเงินที่มีสภาพคล่องตัวสูงมาก สามารถเบิกถอน หรือฝากเงินเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีการกำหนดยอดเงินฝากขั้นต่ำ หรืออาจกำหนดไว้ต่ำมาก รวมถึงไม่กำหนดระยะเวลาในการรับฝาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประเภทนี้จะมีอัตราที่ต่ำ เพราะธนาคารมองว่าเป็นเงินที่ไม่ค่อยอยู่กับธนาคารนานนัก ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันแต่สะสมยอดและจ่ายให้กับผู้ปากปีละ 2 ครั้ง คือสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของทุกปี
บัญชีเงินฝากประเภทนี้เหมาะกับบุคคลทั่วไป เป็นเงินฝากที่ผู้ฝากมักใช้อยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่เพื่อรองรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พนักงานจึงมักแนะนำให้ทำบัตร ATM ควบคู่กับบัญชีประเภทนี้เพื่อความสะดวกในการเบิกถอน ซึ่งปัจจุบันนอกจากกดเงินผ่าน ATM แล้วยังสามารถใช้จ่ายจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเบิกเงินสดออกมา เพียงใช้แอพพลิเคชั่น Internet Banking ของธนาคารก็สะดวกสบายขึ้นมากทีเดียว
2. เงินฝากกระแสรายวัน
สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องออกเช็คเพื่อชำระค่าใช้จ่ายในกิจการของตนเองอยู่บ่อยๆ เงินฝากกระแสรายวันตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีความคล่องตัวสูง เหมาะเป็นบัญชีที่ใช้หมุนเวียนเงินในธุรกิจ แต่เงินฝากประเภทนี้จะไม่มีดอกเบี้ย เพราะธนาคารถือว่าได้ให้ประโยชน์ในด้านอื่นกับผู้ฝาก
ที่สำคัญคือผู้ใช้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันยังสามารถขอเปิดวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือวงเงิน O/D ควบคู่กันได้เพื่อใช้กู้เงินได้ทันทีสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในธุรกิจ ซึ่งธนาคารจะคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เบิกเงินเกินบัญชี อย่างไรก็ตามเงินฝากประเภทนี้ได้รับความนิยมน้อยลงเพราะเทคโนโลยีอย่าง Internet Banking ที่เป็นแอพพลิเคชั่นของทางธนาคารที่ทำให้ชำระเงิน หรือโอนเงินได้ทุกที่ทุกเวลา สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
3. เงินฝากประจำ
เป็นเงินฝากที่มีกำหนดระยะเวลาการฝากเงินแน่นอน เช่น 3 เดือน หรือ 1 ปี และมีการกำหนดขั้นต่ำ ไม่สามารถถอนออกไปใช้ก่อนได้ หรือถ้าจำเป็นต้องถอนเงินไปใช้ก่อนกำหนด อาจไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือเสียค่าปรับตามระเบียบที่ธนาคารกำหนดไว้ การฝากบัญชีเงินฝากประจำมีทั้งการฝากแบบทยอยฝากด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกครั้งจนครบระยะเวลา กับการฝากทีเดียวจนครบระยะเวลา ซึ่งมีอัตราการคิดดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน
เงินฝากประจำนี้เหมาะสำหรับบุคคลที่ต้องการออมเงินและเกิดมูลค่าเพิ่ม เพราะดอกเบี้ยจะสูงกว่าดอกเบี้ยของเงินฝากออมทรัพย์ ถือเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับจะมีภาษีดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์
4. เงินฝากปลอดภาษี
ปกติแล้วเงินฝากเพื่อการออมอย่างเงินฝากประจำจะมีภาษีดอกเบี้ยด้วย แต่ถ้าอยากออมเงินแบบได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าก็ต้องเลือกเงินฝากแบบปลอดภาษี ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 2 เปอร์เซ็นต์และไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย เพียงแต่เราต้องทำให้ได้ตามเงื่อนไข คือ ฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน ส่วนใหญ่มีกำหนดขั้นต่ำ เช่น 1,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาในการฝากเงิน เช่น 24 หรือ 36 เดือน ถ้าทำได้ตามเงื่อนไขก็จะได้ดอกเบี้ยที่ปลอดภาษีแน่นอน
การฝากเงินแบบปลอดภาษี เหมาะกับคนที่ต้องการออมเงินและมั่นใจว่าสามารถฝากเงินในจำนวนเงินเดิมได้ทุกเดือนเพื่อผลตอบแทนที่มากกว่า โดยสามารถเปิดบัญชีนี้ได้คนละ 1 บัญชีเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินฝากปลอดภาษี)
ในปัจจุบันการใช้จ่ายและโอนเงินเป็นเรื่องง่ายมากขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีอย่าง Internet Banking แต่การเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยเลือกประเภทให้ตรงกับจุดประสงค์การใช้งาน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ เช่น ดอกเบี้ยจากเงินฝาก ก็เป็นประโยชน์มาก และไม่ต้องเสี่ยงแบบการลงทุนประเภทอื่นๆ