วัยเกษียณเป็นวัยที่ผู้สูงอายุซึ่งทำงานหนักมาตลอดจะได้พักผ่อนกันเสียที แต่ข้อเสียก็คือเมื่อหยุดทำงานก็จะไม่ได้เงินทั้งที่ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันอยู่ ไม่ว่าจะค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ายารักษาโรค ซึ่งผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแลด้านการเงินก็ต้องมีเงินเก็บสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ สำหรับคนวัยทำงานที่อายุยังน้อย อาจมองว่าการเก็บเงินสำหรับเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว แท้จริงแล้วควรวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะต้องเก็บเงินต่อเดือนเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและรักษาพยาบาลย่อมสูงขึ้นตามอายุ รวมถึงค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในอนาคตย่อมสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ควรมีเงินเก็บหลังเกษียณเท่าไหร่ถึงจะพอ?
ถ้าพูดถึงเงินเก็บหลังเกษียณแล้ว มีอยู่ 2 สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน และ จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่มีสูตรในการคำนวณอย่างตายตัว เพราะมีตัวแปรอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น นิสัยการใช้เงิน สุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีหลักการพื้นฐานดังนี้
- ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ในแต่ละคนย่อมมีค่าใช้จ่ายไม่เหมือนกัน การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของเราให้ดูจากรายได้ในปัจจุบัน เพราะโดยทั่วไปควรมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือน 70% ของรายได้ปัจจุบัน
- จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ส่วนใหญ่แล้วคนเรามักคาดการณ์ว่าตนจะมีอายุราว 80 ปี เพราะเป็นค่าเฉลี่ยอายุของมนุษย์โดยทั่วไป แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ก็อาจทำให้เรามีอายุยืนยาวขึ้น จึงควรคิดเผื่อสักประมาณ 85 – 90 ปี
ตัวอย่างการคำนวณเงินเก็บหลังเกษียณ
นาย A วางแผนเกษียณอายุที่ 60 ปี คาดว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ได้ 85 ปี ดังนั้นจะมีระยะเวลาหลังเกษียณ 25 ปี และคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงิน 240,000 บาทต่อปี ดังนั้นคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้ดังนี้
240,000 x 25 = 6,000,000 บาท
ทั้งนี้ มีสูตรการคำนวณที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ และค่าเงินเฟ้อ โดยนำค่าใช้จ่ายที่คำนวณออกมาได้มาคิดเป็นสองเท่า คือ
6,000,000 x 2 = 12,000,000 บาท
วางแผนเกษียณเก็บสะสมเงินอย่างไรดี?
การเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ ไม่ควรเก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากอย่างเดียว แต่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อให้เงินงอกเงยด้วย เพราะเราต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราค่าครองชีพที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน โดยมีรูปแบบการลงทุนที่แนะนำดังนี้
1. กองทุนรวม RMF
RMF ย่อมากจาก Retirement Mutual Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อการออมเงินระยะยาวสำหรับการเกษียณโดยเฉพาะ เราจะได้ผลตอบแทนในส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุน การลดหย่อนภาษี แต่จะไม่มีเงินปันผล เพราะเน้นเก็บเงินก้อนไว้ไถ่ถอนทีเดียวเมื่อยามเกษียณนั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน RMF)
2. ฝากเงินกับธนาคาร
การฝากเงินเรียกได้ว่าแทบไม่มีความเสี่ยง สามารถแบ่งได้เป็น เงินฝากประจำระยะสั้น และเงินฝากประจำระยะยาว ซึ่งถ้าฝากแบบระยะสั้นจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าระยะยาว (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทเงินฝากธนาคาร)
3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
มีลักษณะคล้ายการฝากเงินแบบประจำ โดยต้องฝากไปจนถึงเกษียณ เช่น อายุ 60 ปี แล้วจึงได้เงินกลับมาใช้จ่ายในแต่ละปีจนเสียชีวิต
4. ตราสารหนี้
ผู้ถือตราสารหนี้มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้ของกิจการ” ส่วนผู้ออกตราสารหนี้จะนำเงินไปใช้จ่ายในกิจการ และมีกำหนดอายุการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นล่วงหน้า ทำให้มีความเสี่ยงน้อย ช่วยรักษาเงินต้น ข้อดีสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อเกษียณคือ ตราสารหนี้มีกองทุนที่มีนโยบาย “พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ” ทำให้สามารถได้รับผลตอบแทนอ้างอิงจากอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้สามารถซื้อขายตราสารหนี้ได้แม้ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้)
5. ตราสารทุน / หุ้น
ตราสารทุนหรือหุ้น ผู้ถือหุ้นมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” จะได้รับสิทธิและเงินปันผลของกิจการขึ้นอยู่กับข้อตกลง การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง แต่ได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าตราสารหนี้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น)
ข้อแนะนำสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณคือ ถ้ายังอายุไม่เกิน 40 ปี ควรเลือกลงทุนแบบที่ได้ผลตอบแทนสูง เพราะสามารถเผชิญความเสี่ยงได้มากกว่า อย่างเช่น ลงทุนในหุ้น และเมื่ออายุมากขึ้นก็ปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้มีความเสี่ยงน้อยลง เช่น ลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น และเมื่อใกล้เกษียณจึงเลือกลงทุนแบบความเสี่ยงน้อยที่สุด เพื่อที่แผนการเก็บเงินหลังเกษียณจะได้ไม่มีข้อผิดพลาด ไม่ต้องลำบากเรื่องการเงินในตอนที่อายุมากแล้วนั่นเอง
บทความแนะนำ
- วิธีการออมเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน เก็บเงินแสนได้ไม่ยาก!
- วิธีการลงทุนและหารายได้เสริมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สามารถทำได้จริง!
- รายได้แบบ Active Income และ Passive Income คืออะไร?
- เงินเดือนไม่พอใช้ หมุนเงินไม่ทัน เป็นหนี้เยอะ ทำอย่างไรดี?
- อยากลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนดีๆ…เลือกลงทุนอะไรดี?
- อยากลงทุนระยะยาว ได้ผลตอบแทนดีๆ…เลือกลงทุนอะไรดี?