คนที่ทำงานหนักมาหลายปีก็คงวาดฝันถึงชีวิตหลังวัยเกษียณที่สุขสบาย แต่ทั้งนี้ชีวิตหลังวัยเกษียณจะสุขสบายหรือต้องประหยัดขึ้นอยู่กับการเก็บออมเงินในช่วงวัยทำงาน โดยเฉพาะสำหรับลูกจ้างของบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีสวัสดิการด้านบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณอายุเหมือนข้าราชการ การออมเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณถือเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ลูกจ้างได้ออมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณนั่นเอง
กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างจัดตั้งขึ้นร่วมกัน เพื่อให้ลูกจ้างได้เก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายตอนเกษียณ โดยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเรียกว่า “เงินสะสม” และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้าอีกส่วนเรียกว่า “เงินสมทบ” ซึ่งเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งที่นายจ้างมีให้แก่ลูกจ้าง และถือเป็นหลักประกันทางการเงินอย่างหนึ่งที่บริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีให้ลูกจ้าง ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลผ่านกฎหมาย “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
ประโยชน์ของกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
1. ผลประโยชน์จากเงินสะสม
ในกองทุนจะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารกองทุนคอยดูแล ทำให้มีเงินงอกเงยและเฉลี่ยให้กับสมาชิกในกองทุนได้
2. ผลประโยชน์จากเงินสมทบ
โดยส่วนใหญ่แล้วเงินสมทบจากนายจ้างจะมีอัตรามากขึ้นตามอายุงาน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบริษัทมีข้อตกลงอย่างไร
3. ผลประโยชน์ทางภาษี
แบ่งได้ตามอายุที่เป็นสมาชิกกองทุน ดังนี้
- เป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี
ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วนของเงินสะสมยังไม่สามารถใช้หักภาษีได้ แต่สามารถนำผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อหักภาษีได้ - เป็นสมาชิกกองทุนเกิน 5 ปี และออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี
นำเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสะสมนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อหักภาษี โดยไม่รวมกับรายได้อื่น ส่วนเงินได้ที่เหลือสามารถหักค่าใช้จ่าย 50% แล้วนำมาคำนวณภาษี - เป็นสมาชิกกองทุนเกิน 5 ปี และออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
ในกรณีนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี
4. สิทธิ์ในการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ในกรณีที่ลาออกจากงานหรือเกษียณอายุแต่ยังไม่ต้องการเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถติดต่อบริษัทหลักทรัพย์เพื่อแจ้งคงเงินเอาไว้ ในกรณีเกษียณอายุสามารถขอรับเงินกองทุนเป็นงวดได้เหมือนกับเงินบำนาญอีกด้วย แต่ควรตรวจสอบค่าธรรมเนียมด้วยว่าคุ้มค่าหรือไม่
5. สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปที่กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพนั้น เราสามารถเลือกนโยบายลงทุนได้เอง และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนับรวมกับอายุการเป็นสมาชิก RMF ได้ด้วย แต่เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป RMF ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้
การจ่ายเงินเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
บริษัทผู้ว่าจ้างจะนำเงินส่งเข้ากองทุนตามระยะเวลาการจ่ายค่าจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายด้วยตัวเองเพราะถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนโดยอัตโนมัติ
การรับเงินจากกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ
ในกรณีที่ออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี หรือเกษียณอายุ ลูกจ้างที่ทำงานถึง 1 ปีจะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ รวมถึงผลประโยชน์จากเงินสะสม หากทำงานไม่ถึง 1 ปีจะได้เพียงเงินสะสมของตนเองเท่านั้น โดยทั้งสองกรณีต้องเสียภาษีด้วย
ถ้าไม่ต้องการรับเงินออกจากกองทุนทันที มีสองกรณีคือ
- คงเงินไว้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างต่ออีก 1 ปี
กรณีช่วยอำนวยความสะดวกสบายสำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนงาน และเมื่อได้งานใหม่สามารถโอนย้ายเงินไปยังกองทุนสำรองของนายจ้างใหม่ได้ แต่ก่อนจะโอนย้ายจะไม่มีเงินสมทบจากนายจ้างเดิม
- โอนย้ายไปยังกองทุนรวม RMF
การย้ายไปยังกองทุนรวม RMF จะทำให้เลือกนโยบายการลงทุนได้เอง และได้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษีเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ถือเป็นสวัสดิการที่มีประโยชน์มากสำหรับลูกจ้างในบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะจะได้ฝึกวินัยในการออมเงิน และยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เงินผลประโยชน์จากเงินสะสมโดยที่ไม่ต้องบริหารจัดการเกี่ยวกับกองทุนด้วยตนเอง และสิทธิในการลดหย่อนภาษี
บทความแนะนำ
- วิธีการออมเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน เก็บเงินแสนได้ไม่ยาก!
- วิธีการลงทุนและหารายได้เสริมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สามารถทำได้จริง!
- ข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อบ้านสำหรับมนุษย์เงินเดือน
- การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้
- 20 แนวทางการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือน
- ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนและผู้มีรายได้ควรรู้
- กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ สิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้