การทำสัญญากู้ยืมเงิน บางครั้งแค่หนังสือสัญญาก็ไม่อาจเป็นหลักประกันให้กับผู้ให้กู้ยืมเงินอย่างเพียงพอ ดังนั้น จึงมีการทำสัญญากู้ยืมเงินแบบนำสินทรัพย์เป็นหลักประกันขึ้นมา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นการจำนำและการจำนอง แต่หลายคนอาจสับสนว่าคืออะไร มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร
จำนำคืออะไร?
การจำนำ คือ บุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้จำนำ” มอบสังหาริมทรัพย์ให้กับอีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อประกันการชำระหนี้ โดยสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แหวน สร้อย ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตอย่าง ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ บุคคลอื่นจะนำทรัพย์ของผู้จำนำไปจำนำแทนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการยักยอกทรัพย์ หรือลักทรัพย์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้รับจำนำต้องระวังให้ดี ผู้รับจำนำมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินที่จำนำ จนกว่าผู้จำนำจะมาชำระหนี้ไถ่ถอนคืน ขณะเดียวกันระหว่างที่จำนำอยู่ ผู้รับจำนำก็ต้องรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินนั้น
ตัวอย่างการจำนำ
นายเอ กู้เงินจาก นายบี โดยมอบสร้อยคอทองคำเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ 3,000 บาท และจะได้รับสร้อยคอทองคำคื่นเมื่อนำเงินมาชำระหนี้ การสัญญาเช่นนี้เรียกว่า สัญญาจำนำ

จำนองคืออะไร?
จำนอง มีลักษณะคล้ายการจำนำ เป็นการมอบสินทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ เพียงแต่สิ่งที่ใช้เป็นหลักประกันคือ อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ยกตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดิน บ้าน โรงเรือน เป็นต้น โดยการจำนอง ผู้จำนองต้องนำสินทรัพย์ไปจดทะเบียนไว้กับผู้รับจำนอง ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ต้องโอนที่ดินหรือทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้รับจำนอง
ตัวอย่างการจำนอง
นายเอ กู้เงินนายบี จำนวน 1 ล้านบาท โดยนำที่ดินของตนเอง 1 แปลงไปจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าหน้าที่กรมผู้ดิน เพื่อเป็นการประกันชำระหนี้ โดยนายเอไม่ต้องโอนหรือส่งมอบที่ดินให้นายบี นายบียังมีสิทธิครอบครองและใช้สอยที่ดินของตนเองได้ตามปกติ
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจำนำกับการจำนองมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นการมอบสินทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ เพียงแต่สินทรัพย์ที่ใช้มีความแตกต่างกัน การจำนำจะใช้สินทรัพย์ที่เป็น “สังหาริมทรัพย์” ส่วนการจำนองจะใช้สินทรัพย์ที่เป็น “อสังหาริมทรัพย์” นั่นเอง