ใครที่อายุมากกว่า 18 ปีและทำงานแล้วแต่ยังไม่เคยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ควรศึกษาเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะทุกคนที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ หรือคนที่อายุมากกว่า 18 ปีแล้วรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเช่นกัน โดยต้องยื่นภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดมา
เรื่องภาษีเงินได้เป็นเรื่องที่ทุกคนโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนควรรู้เอาไว้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากภาษีคือเงินที่ประชาชนต้องเสียให้กับรัฐ เพื่อให้รัฐนำไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม มีทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม ซึ่งหนึ่งในภาษีทางตรงที่จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเอาไว้ก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้คำนวณภาษีได้ถูกต้อง และไม่พลาดสิทธิ์ในการลดหย่อนไปอย่างน่าเสียดาย
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีจากบุคคลทั่วไป ภาษีนี้มีการควบคุมและเก็บโดยรัฐบาลมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดเก็บ ซึ่งผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องไปแสดงตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
เมื่อมีรายได้มาก อัตราภาษียิ่งสูงขึ้นแบบขั้นบันได บางรายอาจได้รับการกำหนดให้เสียภาษีตอนครึ่งปี เพื่อบรรเทาภาระภาษี และบางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้บางส่วนเพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีอีกด้วย
มีรายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี?
การเสียภาษีนั้นถือเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของสมาชิกในสังคม โดยบุคคลที่ต้องเสียภาษีนั้น คำนวณรายได้ต่อปีแล้วต้องเกิน 310,000 บาท แต่เดิมผู้ที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ไม่ต้องยื่นภาษี แต่ปัจจุบันต่อให้รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็ต้องยื่นภาษีเช่นกัน ส่วนผู้ที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษี คือ ผู้เยาว์อายุไม่ถึง 18 ปี หรือบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
การคำนวณอัตราภาษีนั้น ต้องแยกเงินออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ก่อน คือ รายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน โดย “รายได้“ คือเงินได้รวมทั้งปีของเรา ซึ่งตามกฎหมายแล้วแบ่งได้เป็น 8 ประเภท แต่ละประเภทมีวิธีหัก “ค่าใช้จ่าย“แตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา เช่น 50% ของรายได้แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท กับตามที่จ่ายจริงซึ่งมีรายละเอียดการหักแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินได้ เช่น 50% ของรายได้แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท, 10-30% ของรายได้ และ 60% ของรายได้ เป็นต้น
ในส่วนของ “ค่าลดหย่อน“ แบ่งออกได้ดังนี้ ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อนบุตร ลดหย่อนจากบิดา-มารดา ประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ การลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริจาคเงิน เป็นต้น โดยแต่ละประเภทก็จะมีแยกย่อยแตกต่างกันไป อย่างค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 60,000 บาท เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี)
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เมื่อทราบจำนวนเงินทั้ง 3 ประเภทของตนเองแล้ว นำมาคำนวณโดยตั้งรายได้ หักลบด้วย ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน จะได้เป็นเงินสุทธิ ซึ่งนำมาเทียบดูอัตราภาษีในแต่ละขั้นบันไดได้ดังนี้
- รายได้ 0 – 150,000 บาท : ยกเว้นอัตราภาษี
- รายได้ 150,001 – 300,000 บาท : อัตราภาษี 5%
- รายได้ 300,001 – 500,000 บาท : อัตราภาษี 10%
- รายได้ 500,001 – 750,000 บาท : อัตราภาษี 15%
- รายได้ 750,001 – 1,000,000 บาท : อัตราภาษี 20%
- รายได้ 1,000,001 – 2,000,000 บาท : อัตราภาษี 25%
- รายได้ 2,000,001 – 5,000,000 บาท : อัตราภาษี 30%
- รายได้ 5,000,000 บาทขึ้นไป : อัตราภาษี 35%
ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้
ยกตัวอย่างเช่น รายได้สุทธิต่อปี 500,000 บาท ต้องเสียภาษีมากที่สุดในอัตรา 10% โดยวิธีคำนวณต้องคำนวณแบบเป็นขั้นบันได คือ เงินได้สุทธิ X อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องเสีย
- เงินในช่วง 150,000 ได้รับการยกเว้นภาษี = 0 บาท
- เงินในช่วง 150,001 – 300,000 อัตราภาษี 5%
- แปลว่าเงินในช่วงนี้จำนวน 150,000 บาท คิดภาษีเป็น 150,000 X 5% = 7,500 บาท
- เงินในช่วง 300,001 – 500,000 อัตราภาษี 10%
- แปลว่าเงินในช่วงนี้จำนวน 200,000 บาท คิดภาษีเป็น 200,000 X 10% = 20,000 บาท
- 20,000 + 7,500 = 27,500 บาท
- ดังนั้น ถ้ามีเงินได้สุทธิ 500,000 บาท ต้องเสียเงินภาษีจำนวน 27,500 บาท
เมื่อได้รู้ข้อมูลของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้แล้ว ก็จะสามารถคำนวณได้ว่าเราอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ และจะทำให้วางแผนทางการเงินได้ดีขึ้น เพราะการใช้จ่ายหรือลงทุนบางอย่างก็มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วย อย่างเช่นการลงทุนในกองทุนรวม LTF หรือ RMF รวมไปถึงการบริจาคเงินต่างๆ
บทความแนะนำ
- การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้
- แนวทางการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือน
- ข้อควรรู้ในการทำประกันลดหย่อนภาษี ซื้อประกันแบบไหนดี ลดได้เท่าไหร่?
- เงินฝากปลอดภาษีคืออะไร? มีเงื่อนไขอย่างไร?