การเสียภาษีเป็นเรื่องของทุกคนที่มีรายได้ เพื่อให้รัฐได้นำเงินภาษีนั้นไปพัฒนาประเทศ และสร้างสวัสดิการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนคุณภาพชีวิตดีขึ้น สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี การใช้จ่ายต่างๆ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเวลาที่จะต้องเสียภาษีเอาไว้ด้วย แต่สำหรับบางคนก็อาจยังไม่รู้ว่าเราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้มากกว่าที่คิด
การลดหย่อนภาษีจะทำให้เราเหลือเงินไปใช้จ่ายส่วนตัวได้มากขึ้นตามสิทธิ์ที่ควรจะได้ ดังนั้นการตรวจเช็คว่าสิ่งที่สามารถลดหย่อนได้มีอะไรบ้างนับเป็นเรื่องจำเป็น เราจึงขอนำเสนอวิธีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือนและผู้มีอาชีพอิสระมาเป็นข้อมูลในการบริหารเงินถึง 20 แนวทางด้วยกัน ทั้งรายละเอียดการลดหย่อนว่ามีอะไรบ้าง ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ และมีเงื่อนไขอย่างไร
20 แนวทางการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล
ค่าลดหย่อนสำหรับรายจ่ายส่วนบุคคล
- ลดหย่อนได้ : 60,000 บาท
- เงื่อนไข : แค่เพียงยื่นแบบแสดงรายการภาษี ก็ได้สิทธิลดหย่อนส่วนบุคคล
2. ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้
ค่าลดหย่อนของคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้หรือยื่นแบบแสดงรายการรวมกัน
- ลดหย่อนได้ : 60,000 บาท
- เงื่อนไข : คู่สมรสต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีรายได้ระหว่างปี
3. ค่าลดหย่อนจากบุตร
บุตรในที่นี้ต้องเป็นบุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม
- ลดหย่อนได้ : 30,000 บาท
- เงื่อนไข : บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรือถ้าอยู่ในอายุระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาระดับ ปวส.ขึ้นไป และบุตรต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ยกเว้นเงินปันผล
4. ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2
บุตรในที่นี้ต้องเป็นบุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม โดยเป็นบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป
- ลดหย่อนได้ : 60,000 บาท
- เงื่อนไข : บุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดในหรือหลัง พ.ศ. 2561 โดยลำดับในการดับบุตรให้นับบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
5. ค่าลดหย่อนจากการฝากครรภ์และคลอดบุตร
ค่าลดหย่อนในที่นี้สำหรับ ค่าฝากครรภ์ และ ค่าคลอดบุตร
- ลดหย่อนได้ : สูงสุดต่อครรภ์ 60,000 บาท
- เงื่อนไข : ใช้สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ถ้าใช้จ่ายมากกว่า 1 ปี หมายถึงตั้งครรภ์และคลอดคนละปี ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
6. ค่าลดหย่อนจากบิดามารดา
ค่าลดหย่อนสำหรับการเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ทั้งบิดามารดาของตนเองและบิดามารดาของคู่สมรส
- ลดหย่อนได้ : คนละ 30,000 บาท รวมบิดามารดาของคู่สมรสได้สูงสุด 120,000 บาท
- เงื่อนไข :
- บิดามารดาอายุมากกว่า 60 ปี รายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนบิดามารดาของคู่สมรสนั้นต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้น
- บิดามารดาต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง แบบ ลย.03 เพื่อเป็นหลักฐานว่าลูกคนใดคนหนึ่งได้เลี้ยงดู ซึ่งมีลูกเพียงคนเดียวที่จะใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดาได้
7. ค่าลดหย่อนจากการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ
ผู้ดูแลคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์
- ลดหย่อนได้ : คนละ 60,000 บาท
- เงื่อนไข : ผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
8. ประกันสังคม
ค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมสามารถนำมาใช้เป็นสิทธิลดหย่อนได้
- ลดหย่อนได้ : สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
- เงื่อนไข : เป็นผู้ที่เสียเงินค่าประกันสังคม
9. เบี้ยประกันชีวิต
ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ :
- ประกันชีวิตแบบทั่วไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- เงื่อนไข : ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะได้สูงสุด 10,000 บาท หากคู่สมรสมีรายได้จะหักได้สูงสุด 100,000 บาท
10. เบี้ยประกันสุขภาพ
ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อประกันสุขภาพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อร่วมกับประกันชีวิตแบบทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เงื่อนไข : ประกันสุขภาพต้องเป็นกลุ่มต่อไปนี้
- ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
- การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
11. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
ค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อประกันสุขภาพให้บิดา มารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท
- เงื่อนไข : บิดามารดาต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท และเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้
12. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ค่าใช้จ่ายในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เงื่อนไข : เป็นผู้จ่ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
13. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
เงินที่ข้าราชการสะสมเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เงื่อนไข : เป็นข้าราชการที่จ่ายเงินเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
14. กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
เงินที่จ่ายเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เงื่อนไข : เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
15. กองทุนการออมแห่งชาติ
เงินที่ผู้มีอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร อาชีพรับจ้างรายวัน ที่สะสมเข้ากองทุน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
- เงื่อนไข : เป็นผู้มีอาชีพอิสระที่จ่ายเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
16. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
RMF เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีเงินไว้ใช้หลังการเกษียณ
- ลดหย่อนได้ : 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อนับรวมกับประกันชีวิตแบบบำนาญ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- เงื่อนไข : ลงทุนในกองทุนรวม RMF โดยต้องซื้อกองทุนติดต่อกันทุกปี ซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 5,000 บาท และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี
17. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
LTF เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดหุ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาว
- ลดหย่อนได้ : ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- เงื่อนไข : ลงทุนในกองทุนรวม LTF โดยต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 7 ปี
- หมายเหตุ : สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึงปี 2562 เท่านั้น
18. ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย
ดอกเบี้ยจากการกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโด สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- เงื่อนไข : มีดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย
19. เงินบริจาค
เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้
- ลดหย่อนได้ : แบ่งการลดหย่อนได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
- กลุ่มลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า คือ จ่ายจริงเท่าไหร่ หักลดหย่อนได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
- กลุ่มลดหย่อนภาษีตามปกติ คือ ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน10% ของเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
- เงื่อนไข : ต้องเป็นการบริจาคเงินในกลุ่ม
- กลุ่มลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ได้แก่
- เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และช่วยเหลือสังคม
- เงินบริจาคให้ “สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง”
- ค่าลดหย่อนบริจาคสถานพยาบาลรัฐ (เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า)
- กลุ่มลดหย่อนภาษีตามปกติ คือ
- เงินบริจาคทั่วไปและเงินบริจาคน้ำท่วม
20. ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ (สำหรับปี 2561)
ค่าใช้จ่ายกลุ่มต่อไปนี้ใช้ลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากรัฐต้องการให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต
- ลดหย่อนได้ : 1 เท่าของที่จ่ายจริง
- เงื่อนไข : ต้องทำอาชีพอิสระ รับเหมาต่างๆ เงินค่าเช่า และเงินได้จากธุรกิจอื่นๆ และมีเงินได้จำนวนไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
- ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวไทย 55 จังหวัดเมืองรอง
- ลดหย่อนได้ : ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท
- เงื่อนไข : ท่องเที่ยวใน 55 จังหวัดเมืองรอง และใช้จ่ายในส่วนค่าทัวร์ ค่าที่พัก
- หมายเหตุ : 55 จังหวัดเมืองรอง มีดังนี้ นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยนาท น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี
- เงินลงทุนในธุรกิจ Startup
- ลดหย่อนได้ : 100,000 บาท
- เงื่อนไข :
- เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท
- เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. ที่ได้รับการรองรับเรียบร้อย และมีรายได้ไม่น้อยกว่า 80%
- ช็อปช่วยชาติ
- ลดหย่อนได้ : 15,000 บาท
- เงื่อนไข : ต้องซื้อสินค้าดังต่อไปนี้
- ยางรถชนิดใดก็ได้ ต้องมีใบกำกับภาษี พร้อมคูปองที่มีการให้เลขที่โดยกรมสรรพากร ตราของการยางแห่งประเทศไทย และตราประทับเครื่องหมายการค้าผู้ผลิตและจำหน่ายยาง โดยยาง 1 เส้นต้องใช้คูปอง 1 ใบ
- หนังสือและอีบุ๊ค ไม่รวมหนังสือพิมพ์ นิตยสาร พร้อมใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี
- สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนอย่างถูกต้อง ใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษี
ครบแล้วกับ 20 แนวทางการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือน ถ้าไม่เคยศึกษาหรือรู้ข้อมูลมาก่อน จะพบว่ามีแนวทางมากมายทีเดียวที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ เมื่อรู้รายละเอียดและเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ แล้ว ก็สามารถนำมาวางแผนการใช้เงินโดยเลือกใช้จ่ายแบบที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อปีมากกว่าที่คิดและบางครั้งอาจจะได้เงินภาษีที่จ่ายเกินไปคืนมาใช้จ่ายเพิ่มได้อีกต่างหาก