สำหรับคนที่จะกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือกู้เงินไปทำธุรกิจ ต้องศึกษาดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละประเภทเอาไว้ เพราะจะได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนจะไปปรึกษาทำเรื่องกู้ยืมเงินจากธนาคาร และสามารถเปรียบเทียบข้อเสนอและประเภทดอกเบี้ยที่แต่ละธนาคารเสนอมาให้ว่าของธนาคารไหนเหมาะและตรงใจเรามากที่สุด โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยทั่วอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อ โดยดอกเบี้ยเงินกู้ที่พบเห็นกันบ่อยแต่ก็มักสร้างความสับสนให้หลายๆ คน คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MRR และ MOR ดังนั้นเราจะพาไปทำความรู้จักกับดอกเบี้ยแต่ละแบบกัน โดยเริ่มตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยก่อน
ประเภทของอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate)
อัตราดอกเบี้ยที่มีจำนวนเท่าเดิมตลอดอายุสัญญา ถูกกำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น สินเชื่อรถยนต์ กำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ 3% ตลอดระเวลา 3 ปี ดอกเบี้ยก็จะมีอัตรา 3 % ตลอด 3 ปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate)
อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงตามต้นทุนของธนาคาร มีการขึ้นลงและประกาศอัตราดอกเบี้ยใหม่เป็นครั้งคราว สามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารนั้นๆ ธนาคารพาณิชย์จะมีอัตราดอกเบี้ยสำหรับอ้างอิงในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้า มีหลายประเภท เช่น MLR, MOR และ MRR ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
2.1 MLR (Minimum Loan Rate)
MLR คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี คือ ลูกค้าที่มีประวัติการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ ใช้กับเงินกู้ประเภทมีระยะเวลาในการกู้ เป็นเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
2.2 MOR (Minimum Overdraft Rate)
MOR คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่นเดียวกับ MLR แต่เป็นประเภทเงินเบิกเกินบัญชี
2.3 MRR (Minimum Retail Rate)
MRR คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน เป็นต้น
นอกเหนือจากดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ทั้ง 3 อัตราที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ อีกหลายแบบ แต่ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละธนาคารจะไม่เท่ากัน เพราะต้นทุนของแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน ลูกค้าที่ขอกู้สินเชื่อแบบเดียวกัน อาจได้อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันก็ได้ เพราะความเสี่ยงเรื่องการเงินของลูกค้าแต่ละคนไม่เท่ากันนั่นเอง ดังนั้น การตัดสินใจจะกู้เงินจากธนาคารไหน สามารถดูอัตราดอกเบี้ยและข้อเสนอจากธนาคารนั้นก่อนได้ เช่น วงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการผ่อนชำระ เป็นต้น
บทความแนะนำ
- เครดิตบูโรคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรในการขอสินเชื่อ?
- บัตรเครติต และ บัตรกดเงินสด คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- ข้อดีข้อเสียของบัตรเครดิต…ใช้บัตรเครดิตให้ถูกวิธี ได้ประโยชน์และคุ้มค่า
- รีไฟแนนซ์รถยนต์ คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?
- รีไฟแนนซ์บ้าน คืออะไร? มีขั้นตอนอย่างไร?
- ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MRR, MOR คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- การปรับโครงสร้างหนี้ ขอประนอมหนี้คืออะไร? ดีหรือไม่?