เมื่อพูดถึงประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพหลายๆ คนอาจมองว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น เสียเงินไปโดยใช่เหตุ เพราะไม่มีอะไรยืนยันว่าจะได้คืนคุ้มกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป ซึ่งควรเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทั้งอุบัติเหตุ เจ็บป่วยร้ายแรง ซึ่งถ้ามีประกันสุขภาพก็จะช่วยเบาภาระค่าใช้จ่ายไปได้มาก ส่วนประกันชีวิตนั้นหากเราเสียชีวิตไป ก็ได้ประโยชน์กับคนในครอบครัวของเรา
ประกันชีวิตคืออะไร?
ประกันชีวิต คือ สิ่งที่หลายๆ คนวางแผนไว้ว่าจะทำเมื่อมีครอบครัว เพื่อที่ว่าเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝันจนตนเองต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คนในครอบครัวที่อยู่ข้างหลังจะได้ไม่ลำบาก เพราะเงินประกันชีวิตก็เปรียบได้เหมือนเงินมรดก บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามจำนวนที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับผู้ทำประกัน
ทั้งนี้ประกันชีวิตมีหลายประเภท เราควรรู้ว่าประกันชีวิตแต่ละประเภทคืออะไร ดีอย่างไร และเหมาะกับเราหรือไม่ เพราะการเสียเบี้ยประกันในระยะเวลาติดต่อกันหลายปีถือเป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อยและนับเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว
ประเภทของประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance)
เป็นประกันชีวิตที่คุ้มครองในระยะสั้น โดยสามารถเลือกช่วงเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัยได้เอง เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี ถือเป็นประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันที่ถูกที่สุด โดยบริษัทจะจ่ายเงิน 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยถ้าผู้ประกันภัยเสียชีวิตในเวลาคุ้มครอง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการความคุ้มครอง 1,000,000 บาท 5 ปี เราสามารถจ่ายเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียว หากเราเสียชีวิตภายในระยะเวลา 5 ปีนั้น คนในครอบครัวจะได้รับเงินสด 1,000,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจ่ายเบี้ยประกันในราคาที่ถูกที่สุด แต่ได้ความคุ้มครองที่สูง
2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)
เป็นประกันชีวิตที่คุ้มครองระยะยาว โดยเราต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 10 ปี หรือ 20 ปี แล้วจะได้รับการคุ้มครองตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 90 หรือ 99 ปี เป็นต้น ตลอดระยะเวลาคุ้มครองมักจะไม่มีเงินคืน ถ้ามีก็อาจเป็นประเภทประกันชีวิตลอดชีพที่จ่ายปันผล
ข้อดีของประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คือ เบี้ยประกันค่อนข้างถูก แต่คุ้มครองนาน เหมาะกับผู้ที่มีภาระรับผิดชอบในครอบครัว เช่น หัวหน้าครอบครัว และต้องการวางแผนสร้างกองมรดกให้ลูกหลาน
3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)
เป็นประกันชีวิตที่เน้นการออมและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเราจะได้เงินคืนมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป มีหลายระยะเวลา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่ 5 ปี ไปจนถึง 30 ปีเลยก็มี ข้อดีคือปราศจากความเสี่ยงและช่วยสร้างวินัยในการออม แต่ทุนประกันไม่สูงเท่ากับประกันชีวิตแบบอื่นๆ เพราะเน้นการออมมากกว่า
อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 2 – 4 % ต่อปีเท่านั้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการออมแบบไร้ความเสี่ยง และเสมือนได้รับการคุ้มครองจากประกันชีวิตแถมพ่วงมาด้วย
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance)
เป็นประกันชีวิตซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงเรื่องเงินไม่พอใช้ยามเกษียณ โดยจะให้เราจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุเกษียณ เช่น 55 หรือ 60 ปี หลังจากนั้นจะได้เงินคืนมาใช้จ่ายหลังเกษียณในแต่ละปีจนเสียชีวิตหรือตามที่ตกลงไว้
ข้อดีของบประกันชีวิตแบบบำนาญ คือ การสร้างวินัยแบบบังคับให้เราเก็บเงินไว้ใช้หลังการเกษียณโดยเฉพาะ เนื่องจากไม่สามารถถอนออกมาก่อนได้ และมีผลตอบแทนสูงกว่าแบบออมทรัพย์เล็กน้อย
5. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Link)
เป็นประกันชีวิตที่จะแยกเบี้ยประกันของเราเป็นสองส่วน คือ เงินสำหรับการคุ้มครองชีวิต กับ เงินลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเราสามารถเลือกจัดพอร์ตการลงทุนได้เอง วางแผนได้เองว่าจะจ่ายเบี้ยกี่ปี และได้การคุ้มครองกี่ปี รวมไปถึงการคุ้มครองตลอดชีวิตก็ได้ สามารถปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันตาความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลาได้
ข้อดีของประกันชีวิตแบบนี้ คือ มีผลตอบแทนสูงกว่าประกันรูปแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบกับการลงทุน เช่น กองทุนรวม ประกันชีวิตแบบควบการลงทุนนี้จะได้ผลตอบแทนต่ำกว่า จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบการลงทุนแต่ได้ประกันคุ้มครองด้วย
6. ประกันชีวิตแบบแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ (Universal Life)
ประกันชีวิตอีกรูปแบบที่พ่วงการลงทุนไปพร้อมกับการทำประกันชีวิต ผู้ซื้อประกันสามารถวางแผนการจ่ายเบี้ยประกัน ทั้งแบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียว กับแบบจ่ายเบี้ยรายงวด และเลือกจัดพอร์ตการลงทุนได้เอง คล้ายกับประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Link) เพียงแต่การลงทุนจะมีรูปแบบที่หลากหลายกว่า โดยลงทุนทั้งในตราสารหนี้ ตราสารทุน เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนมากกว่า แต่ข้อดีคือไม่เสี่ยงเท่ากับประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Link) ทั้งยังมีการรับรองผลตอบแทนขั้นต่ำเอาไว้ด้วย จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน
จะเห็นได้ว่าประกันชีวิตมีทั้งแบบการจ่ายเบี้ยประกันเพื่อการคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว บางประเภทอาจเป็นการออมเงินอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการออมเพื่อเงินบำนาญ บางประเภทก็พ่วงการลงทุนมาด้วย ดังนั้นก่อนจะทำประกันชีวิตจึงควรศึกษาให้เข้าใจ และสำรวจตัวเองก่อนว่าประกันชีวิตประเภทไหนเหมาะกับตนเอง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
บทความแนะนำ
- ประกันชีวิตมีกี่ประเภท?…ทำประกันชีวิตแบบไหนดี?
- ประกันสุขภาพคืออะไร? คุ้มครองอะไรบ้าง?
- ประกันอุบัติเหตุคืออะไร? คุ้มครองอะไรบ้าง?
- ประกันเดินทางคืออะไร? คุ้มครองอะไรบ้าง?
- ประกันภัยรถยนต์คืออะไร? ต่างจาก พ.ร.บ.อย่างไร?
- ประกันลดหย่อนภาษี ซื้อประกันแบบไหนดี ลดได้เท่าไหร่?
- ประกันโควิด-19 (ประกันไวรัสโคโรนา) มีอะไรบ้าง? ลงทุนซื้อดีหรือไม่?