บ้านคือที่อยู่อาศัยซึ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต บ้านที่ดีจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข แต่ถ้าบ้านไม่ดีก็จะทำให้ทุกข์ใจมาก เพราะจากที่จะได้พักผ่อนสบายๆ ที่บ้านในวันหยุด หรือนอนหลับพักผ่อนตอนกลางคืนให้เต็มที่ ก็อาจพบเจอเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หรือตัวบ้านมีปัญหาชำรุดทรุดโทรมให้ต้องเสียเงินซ่อมแซมบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น ดังนั้นคนจำนวนมากจึงลงทุนกับการซื้อบ้าน แม้ว่าจะต้องกู้ยืมเงินและมีภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นอกจากเงินต้นก็คือดอกเบี้ย
สินเชื่อบ้านนั้นเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่เมื่อกู้แล้วต้องผ่อนชำระกันไปอีกหลายปี ภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นอกจากเงินต้นก็คือดอกเบี้ย ซึ่งวิธีหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นง่ายๆ คือ การชำระเงินต้นให้หมดเร็วขึ้น หรือที่เรียกกันว่าการโปะหนี้ แต่ก็ยังมีอีกวิธีที่ช่วยให้ดอกเบี้ยถูกลง ผ่อนได้นานขึ้น นั่นคือการรีไฟแนนซ์บ้านนั่นเอง
ทำไมต้องรีไฟแนนซ์บ้าน?
ปกติแล้ว การกู้ยืมเงินจากธนาคารมาซื้อบ้านจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ราคาถูกแค่ 3 ปีแรกเท่านั้น แล้วจากนั้นจะเป็นดอกเบี้ยในอัตราปกติ คืออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ที่เปลี่ยนแปลงตามต้นทุนของธนาคาร (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้) ดังนั้นเมื่อถึงครบกำหนด 3 ปี คนส่วนใหญ่จึงนิยมรีไฟแนนซ์บ้าน ซึ่งก็คือการกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่จากธนาคารเดิม หรือทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารใหม่มาโปะหนี้ธนาคารเดิม เพื่อให้ขยายเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น ค่างวดและดอกเบี้ยถูกลง โดยการรีไฟแนนซ์สามารถทำได้ทุกคน ทุกเวลา ทุกสถาบันการเงิน แต่หากรีไฟแนนซ์ก่อนครบกำหนด 3 ปี จะมีการปรับ 3% ของวงเงินกู้
ทั้งนี้ บางกรณีอาจได้วงเงินกู้มากกว่ายอดเงินคงเดิม ทำให้สามารถมีเงินมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ และมีประโยชน์ที่ช่วยลดภาระหนี้ต่อเดือน เนื่องจากผ่อนต่อได้นานขึ้น ในจำนวนเงินต่อเดือนที่น้อยลง
ขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้าน
- ติดต่อขอเอกสารสรุปยอดหนี้เงินกู้จากธนาคารเดิม
- นำเอกสารสรุปยอดหนี้ ไปยื่นทำเรื่องเงินกู้กับธนาคารแห่งใหม่ โดยยื่นหลายๆ แห่งพร้อมกัน เพื่อเพิ่มตัวเลือกในการตัดสินใจ
- ธนาคารใหม่จะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินทรัพย์สิน ถ้าผ่านการอนุมัติ ให้ติดต่อไปยังธนาคารเดิมเพื่อนัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดิน
- ธนาคารเก่าจะสรุปยอดหนี้ให้อีกครั้ง เราต้องแจ้งยอดหนี้เป็นเงินต้นกับดอกเบี้ยจนถึงวันไถ่ถอนแก่ธนาคารแห่งใหม่ และนัดวันทำสัญญากับโอนทรัพย์โดยต้องเป็นวันเดียวกันกับที่นัดธนาคารเก่าไว้
- ทำเรื่องโอนที่สำนักงานที่ดิน ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เรียบร้อย ส่วนสัญญาธนาคารใหม่อาจให้เราเซ็นที่สำนักงานที่ดินหรือที่สาขาของธนาคาร แล้วมอบโฉนดที่ได้มาจากสำนักงานที่ดินให้กับธนาคารแห่งใหม่ เป็นการเสร็จสิ้น
ข้อควรระวังในการรีไฟแนนซ์บ้าน
- หากยังไม่ถึงครบกำหนด 3 ปีในการกู้ยืมกับธนาคารเดิม การรีไฟแนนซ์ต้องเสียค่าปรับ 3%
- หากมียอดหนี้เหลือน้อยมาก เช่น ผ่อนชำระอีกเพียง 1 – 2 ปีจะหมดหนี้ การรีไฟแนนซ์จะไม่คุ้ม เพราะต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อใหม่และค่าใช้จ่ายของกรมที่ดิน
- ถ้าวางแผนจะขายบ้านภายใน 3 ปี ไม่ควรรีไฟแนนซ์ เพราะจะมีค่าปรับปิดหนี้เร็วกว่ากำหนดในอัตรา 2 – 3% ของยอดหนี้ที่เหลือ
- บางธนาคารสามารถต่อรองดอกเบี้ยหลังจากกู้ยืมครบ 3 ปี จึงไม่จำเป็นต้องรีไฟแนนซ์
- บางธนาคารจะมีโปรโมชั่นสำหรับการรีไฟแนนซ์ เช่น ฟรีจดจำนอง
การรีไฟแนนซ์บ้าน เป็นทางเลือกที่ดีในการลดภาระหนี้ต่อเดือน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนมากขึ้นและค่าใช้จ่ายไม่ตึงมือจนเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็อาจไม่เหมาะสำหรับบางคน เพราะค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้านอาจมากกว่าการผ่อนชำระกับสินเชื่อก้อนเดิมจนหมด ดังนั้นจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์บ้าน