สำหรับนักลงทุนหลายๆ คน คงรู้กันดีว่ากระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลมีหลายสกุลมาก ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จึงได้กำหนดออกมาอย่างชัดเจนว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย ต้องใช้เงินดิจิทัลเพียง 7 สกุลดังนี้เท่านั้น
7 สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
1. Bitcoin (BTC)
สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต้ ใช้ระบบ Blockchain แบบเปิดในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อป้องกันการปั๊มเงิน และไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลที่บันทึกอยู่ได้ เงินในระบบถูกกำหนดปริมาณไว้ไม่เกิน 21 ล้านหน่วยเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
2. Bitcoin Cash (BCH)
สกุลเงินที่แยกออกมาจาก Bitcoin อีกที เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2560 เนื่องจาก Bitcoin มีปริมาณธุรกรรมที่รอการตรวจสอบการโอนจำนวนมากจึงทำให้ล่าช้า จึงเกิดการแยกตัวออกมาเป็น Bitcoin Cash ซึ่งมีความรวดเร็วมากขึ้น และได้รับการยอมรับอย่างมาก
3. Ethereum (ETH)
สกุลเงิน Ethereum พัฒนาขึ้นโดย Vitalik Buterin โปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซีย เมื่อปี 2556 มีลักษณะเด่นคือประยุกต์ใช้ได้หลายธุรกรรม
4. Ethereum Classic (ETC)
สกุลที่แยกออกมาจาก Ethereum เนื่องจากทีมพัฒนาส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยในการแก้ปัญหาเมื่อถูกแฮก จึงเกิดสกุลใหม่เป็น Ethereum Classic
5. Litecoin (LTC)
สกุลเงินที่ได้รับการพัฒนาโดย Charlie Lee อดีตวิศวกรของ Google โดยพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ขึ้นชื่อในด้านความเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูก โดยสามารถโอนธุรกรรมได้เร็วกว่า Bitcoin ถึง 4 เท่า
6. Ripple (XRP)
สกุลเงินที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Ripple Labs เมื่อปี พ.ศ. 2555 มีความแตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ตรงที่ระบบ Blockchain เป็นแบบ Private โดยใช้เครือข่าย RippleNet ด้วยเหตุผลที่ต้องการสร้างความเสถียร และใช้งานได้เฉพาะธนาคารที่ลงทะเบียนกับ Ripple เท่านั้น
7. Stellar (XLM)
สกุลเงินที่พัฒนามาจาก Ripple ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้เงินดิจิทัลชำระและและโอนเงินได้ เช่น โอนเงินไปต่างประเทศ แลกเปลี่ยนกับสกุลเงินหลัก เป็นต้น ตรงกันข้ามกับ Ripple ที่เน้นสถาบันการเงินเป็นหลัก
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากจะต้องศึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนแล้ว ยังต้องศึกษาทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงศึกษาว่าสกุลเงินดิจิทัลที่เราสนใจจะลงทุนนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เหมาะกับเราหรือไม่ เนื่องจากการลงทุนเหล่านี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ นั่นเอง