หลายคนอาจคิดว่า ประกันภัยรถยนต์ คืการเพิ่มภาระทางการเงินโดยใช่เหตุ อีกอย่างเจ้าของรถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกจะทำ พ.ร.บ. รถยนต์เอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถให้ได้รับค่ารักษาพยาบาล แต่เพียงแค่นั้นอาจยังไม่พอ
ความจริงแล้วการซื้อประกันภัยรถยนต์เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่าง ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ประกันภัยรถยนต์ก็สามารถคุ้มครองได้ แต่บางคนก็อาจสับสนว่าประกันภัยรถยนต์มีกี่ประเภท? แล้วแตกต่างจาก พ.ร.บ.รถยนต์อย่างไรบ้าง?
ประเภทของประกันภัยรถยนต์
ประกันภัยรถยนต์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ รถยนต์ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกต้องทำ เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับความคุ้มครองในด้านการรักษาพยาบาล และเป็นหลักประกันแก่สถานพยาบาลว่า จะได้รับค่ารักษาพยาบาลกรณีที่ให้การรักษาแก่ผู้ประสบภัยจากรถอย่างแน่นอน
2. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการซื้อประกันคุ้มครองเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. เนื่องจากถ้าเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินมากเกินที่ พ.ร.บ. คุ้มครอง ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายจะต้องรับความผิดชอบเอง การทำประกันภาคสมัครใจจะมีส่วนรับผิดชอบในกรณีเหล่านี้ โดยผู้ซื้อประกันภัย หรือ ผู้เอาประกันภัย สามารถเลือกประเภทของประกันภัยได้ ตามความต้องการของผู้ซื้อ แบ่งประเภทได้ดังนี้
2.1 ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (ประกันชั้น 1)
ประกันประเภทนี้ได้รับความสนใจมากที่สุด แม่ว่าจะมีค่าเบี้ยประกันสูง เพราะให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด คือ ให้การคุ้มครองต่อรถยนต์และความบาดเจ็บทางร่างกายทั้งฝั่งผู้เอาประกันภัยและคู่กรณีต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด รวมทั้งความเสียหายจากไฟไหม้ น้ำท่วม การถูกโจรกรรม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการลากจูง
2.2 ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 (ประกันชั้น 2)
ประกันประเภทนี้จะคุ้มครองต่อรถยนต์และความบาดเจ็บทางร่างกายของฝั่งคู่กรณีเท่านั้นในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด รวมถึงให้ความคุ้มครองความสูญหายและเหตุไฟไหม้ของตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย แต่ไม่คุ้มครองถึงตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยกรณีชนหรือพลิกคว่ำ
2.3 ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 (ประกันชั้น 3)
ประกันประเภทนี้ให้ความคุ้มครองเฉพาะความบาดเจ็บทางร่างกายและความเสียหายต่อทรัพย์สินของคู่กรณี เมื่อผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด ค่าเบี้ยประกันจึงถูกที่สุด
2.4 ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ (ประกันชั้น 2+)
เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองเหมือนประเภท 2 แต่มีส่วนเพิ่มเติมคือคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย เฉพาะกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น ตามวงเงินที่ได้ซื้อไว้ เช่น 100,000 หรือ 150,000 บาท
2.5 ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+ (ประกันชั้น 3+)
เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองเหมือนประเภท 3 แต่มีส่วนเพิ่มคือคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย เฉพาะกรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น ตามวงเงินที่ได้ซื้อไว้ เช่น 100,000 หรือ 150,000 บาท
สรุปแล้ว ความแตกต่างของ พ.ร.บ.รถยนต์ กับประภันภัยรถยนต์ ตรงที่ พ.ร.บ.รถยนต์จะคุ้มครองและชดเชยค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยรถยนต์ แต่ไม่คุ้มครองถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับยานพาหนะ ดังนั้น การทำประกันรถยนต์นอกเหนือจาก พ.ร.บ.รถยนต์ จึงนับเป็นสิ่งจำเป็น เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายหากประสบภัยจากรถ ไม่ต้องกังวลด้านความเสียหายต่อทรัพย์สิน สามารถเลือกประเภทประกันได้ตามความต้องการ ยิ่งเป็นประเภทที่ให้ความคุ้มครองมาก ก็ยิ่งลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายได้มาก
บทความแนะนำ
- ประกันชีวิตมีกี่ประเภท?…ทำประกันชีวิตแบบไหนดี?
- ประกันสุขภาพคืออะไร? คุ้มครองอะไรบ้าง?
- ประกันอุบัติเหตุคืออะไร? คุ้มครองอะไรบ้าง?
- ประกันเดินทางคืออะไร? คุ้มครองอะไรบ้าง?
- ประกันภัยรถยนต์คืออะไร? ต่างจาก พ.ร.บ.อย่างไร?
- ประกันลดหย่อนภาษี ซื้อประกันแบบไหนดี ลดได้เท่าไหร่?
- ประกันโควิด-19 (ประกันไวรัสโคโรนา) มีอะไรบ้าง? ลงทุนซื้อดีหรือไม่?