ผู้สูงอายุวัยหลังเกษียณ เป็นวัยที่มักจะพักผ่อนอยู่กับลูกหลานที่บ้าน หรือทำงานอดิเรกต่างๆ ที่อยากทำอย่างเต็มที่หลังจากที่ทำงานหนักมาตลอดหลายสิบปี แต่ทั้งนี้สำหรับผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว ค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่ายา ค่าที่พักอาศัย ย่อมมีไม่ต่างจากวัยก่อนเกษียณ และมากน้อยแตกต่างกันไปตามความจำเป็น ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดสวัสดิการเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เรียกว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คืออะไร?
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คือ เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้สำหรับแบ่งเบาค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นรายเดือน ทุกปีจะมีการเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้สูงอายุรายใหม่ๆ เพื่อให้เข้ามารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วก็ไม่ต้องไปลงอีก เพราะลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็รับสิทธิไปได้ตลอด ยกเว้นกรณีที่มีรายชื่อตกหล่นจากการย้ายที่อยู่ จึงต้องไปทำเรื่องยืนยันสิทธิ์ให้สมบูรณ์
ผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- มีสัญชาติไทย
- อายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎรระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ)
- ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเทศบาล อบต. เช่น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน
- ขอรับเบี้ยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะจ่ายภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนต่อเนื่องตลอดชีวิต และมีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเงินเพิ่มตามเกณฑ์คือ
- รายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับเงินเพิ่ม 50 บาท/เดือน
- รายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี : ได้รับเพิ่ม 100 บาท/เดือน
การลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
สถานที่ลงทะเบียน
- กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- ต่างจังหวัด สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ช่วงเวลารับลงทะเบียน
ช่วงเวลาการลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้
- ช่วงเดือนมกราคม ถึง กันยายน
ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียน จะได้รับเงินงวดแรกในเดือนถัดจากวันที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
- ช่วงเดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน
ผู้สูงอายุที่เกิดในเดือนกันยายนถึงตุลาคม มีสิทธิ์รับเงินงวดแรกในเดือนตุลาคม
หลักฐานสำหรับการลงทะเบียน
กรณีผู้สูงอายุลงทะเบียนด้วยตนเอง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ จำนวน 1 ชุด
กรณีมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นมายื่นคำขอรับเงินแทนได้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้สูงอายุ จำนวน 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้สูงอายุ จำนวน 1 ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ผู้สูงอายุ จำนวน 1 ชุด
- หนังสือมอบอำนาจ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
ที่สำคัญคือ เอกสารทุกฉบับ ต้องลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเขียนได้ให้พิมพ์ลายมือแทน
ช่องทางการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- รับเป็นเงินสดด้วยตนเอง
- ให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจรับแทน
- โอนเข้าบัญชีธนาคารในนามของผู้สูงอายุ
- โอนเข้าบัญชีธนาคารในนามของผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้สูงอายุ
*การโอนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านบัญชีธนาคาร ปัจจุบันยังให้สิทธิ์เฉพาะผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯ
สำหรับผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ควรไปขึ้นลงทะเบียนไว้ให้เรียบร้อยเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ของตนเอง สามารถนำมาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ หากใครต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดต่อสอบถามได้ที่เฟซบุ๊ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ https://www.facebook.com/Msociety.go.th
บทความแนะนำ
- ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนและผู้มีรายได้ควรรู้
- กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คืออะไร? สิทธิประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สิทธิประโยชน์ที่คนวัยหลังเกษียณควรรู้
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน คืออะไร? สิทธิประโยชน์ที่คนที่มีรายได้น้อยควรรู้