นิสิตนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังลงสนามการสมัครงาน คงวุ่นวายและตื่นเต้นไม่น้อยกับการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานครั้งแรก ซึ่งหลายคนอาจหัวหมุนเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และกังวลไม่รู้ว่าจะถูกถามอะไรบ้าง ดังนั้นไปเช็คกันหน่อยดีกว่าว่าจะมีเทคนิควิธีเตรียมตัวสัมภาษณ์งานครั้งแรกอย่างไร คำถามในการสัมภาษณ์งานส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง รวมทั้งมีแนวทางการตอบแบบไหน และทำอย่างไรให้ได้งาน
เทคนิควิธีเตรียมตัวสัมภาษณ์งานครั้งแรก
1. ศึกษาข้อมูลของบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์
ข้อนี้เป็นอันดับแรกที่ต้องทำ เพราะเป็นแนวทางในการเตรียมตอบคำถาม และการแต่งตัว โดยข้อมูลบริษัทที่เราควรรู้ เช่น บริษัททำงานเกี่ยวกับอะไร ก่อตั้งมากี่ปีแล้ว ผู้บริหารคือใคร จุดแข็งจุดอ่อนคืออะไร คู่แข่งคืออะไร กลุ่มลูกค้าคืออะไร ภาพลักษณ์องค์กรคืออะไร เป็นต้น
ข้อควรระวังคือ ถ้าข้อไหนไม่แน่ใจ ก็ควรเลี่ยงที่จะตอบหรือตอบไปตรงๆ ว่าไม่รู้ เพราะไม่งั้นอาจถูกซักถามเพิ่มเพื่อให้อธิบายอย่างละเอียด ทั้งนี้ต้องแสดงให้เห็นว่าได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรมาแต่เป็นข้อมูลในด้านอื่น ไม่ใช่ว่าไม่ศึกษามาเลย
2. เตรียมเสื้อผ้าหน้าผม
รูปลักษณ์เป็นสิ่งแรกที่ผู้สัมภาษณ์จะเห็นเรา และความสุภาพเรียบร้อย รู้กาลเทศะจะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ประเมินได้เบื้องต้นว่าเราเป็นคนอย่างไร
- สำหรับผู้ชาย ควรเลือกเสื้อผ้าที่เป็นเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีสุภาพ ไม่ฉูดฉาด กางเกงสแล็คสีดำหรือสีสุภาพอื่นๆ รองเท้าหนังที่ขัดมันเงาวาว หรือดูสะอาด ไม่เปรอะเปื้อน อาจใส่เนคไทหรือสูทตามความเหมาะสมของงาน เซ็ตผมให้ดูเรียบร้อย
- สำหรับผู้หญิง ควรเลือกเสื้อเชิ้ตสีสุภาพ หรือเสื้อที่ไม่ใช่เสื้อแขนกุด เปิดไหล่ คอกว้าง กระโปรงสีสุภาพ ไม่สั้นเกินไป หรืออาจใส่กางเกงสแล็คตามความเหมาะสม รองเท้าคัทชู ผมอาจเกล้าหรือปล่อยแต่ต้องดูเรียบร้อย ไม่รุงรังหรือกระเซอะกระเซิง
อย่างไรก็ตาม บริษัทบางแห่งก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องการแต่งตัวอย่างเป็นทางการ เช่น บริษัทด้านโฆษณา เพราะการแต่งตัวที่ดูมีสไตล์ของตนเองจะเพิ่มความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์มากกว่า ซึ่งการศึกษาข้อมูลของบริษัทก่อนจะช่วยให้ตัดสินใจเรื่องการแต่งตัวง่ายขึ้น แต่ถึงจะเป็นบริษัทที่เน้นงานสายอาร์ตอย่างไร การแต่งตัวก็ต้องอยู่บนพื้นทางของความสุภาพเรียบร้อย ไม่ฉูดฉาดเกินไป
3. เตรียมประวัติของตนเอง
ถ้าเพิ่งจบใหม่ หรือสัมภาษณ์งานครั้งแรก ประวัติการทำงานยังไม่มี เราต้องบอกว่าเราชื่ออะไร เรียนจบมาจากคณะและสาขาของมหาวิทยาลัยอะไร ฝึกงานที่ไหน เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ เพราะเกรดเฉลี่ยจะบ่งบอกถึงความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็ต้องพรีเซนต์ในด้านการทำกิจกรรมด้วย เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เล็งเห็นว่าเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นและสามารถทำงานเป็นทีมได้ เช่น กิจกรรมค่ายอาสา กิจกรรมผู้นำเชียร์ การแข่งกีฬา การประกวดร้องเพลง การประกวดเต้นคัฟเวอร์ เป็นต้น
4. เตรียมคำตอบว่าทำไมอยากทำงานตำแหน่งนี้
คำถามเบสิคสำหรับการสัมภาษณ์งานมักเป็นคำถามว่าทำไมถึงอยากทำงานตำแหน่งนี้ ถ้างานตรงกับสายที่เรียนก็สามารถเสริมไปได้ว่ามีความชอบความสนใจในงานสายนี้อยู่แล้วตั้งแต่แรก เช่น งานสถาปนิก ก็สามารถตอบไปได้ว่าสนใจในการออกแบบบ้าน ฝันอยากสร้างบ้านให้ตรงใจผู้อยู่ที่สุด แต่ถ้าจบไม่ตรงสายกับงานที่สมัครก็ต้องอธิบายกันเสียหน่อย และพยายามทำให้เห็นว่าถึงไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่เรามีความพยายาม และมีคุณสมบัติอะไรบ้างที่โดดเด่นเหมาะกับงาน
5. เตรียมคำตอบว่าจะทำงานได้หรือไม่ในเมื่อไม่มีประสบการณ์
แน่นอนว่าต้องมีคำถามนี้ เพราะการไม่มีประสบการณ์จะทำให้ด้อยกว่าผู้สมัครที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนแม้จะไม่มาก ถ้าเคยฝึกงานให้ตอบไปเลยว่าเคยฝึกงานอะไร ทำอะไรมาบ้าง และมีจุดเด่นอะไร แต่ถ้าไม่มีเคยฝึกงาน ต้องพยายามพรีเซนต์ว่าจุดเด่นของเราคืออะไรที่ควรรับเราเข้าทำงาน เช่น เรียนรู้เร็ว ขยัน ตรงเวลา ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี เป็นต้น
6. เตรียมคำตอบว่าอะไรคือจุดอ่อนและจะแก้ไขอย่างไร
ผู้สัมภาษณ์มักถามจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา ซึ่งจุดแข็งมักไม่มีปัญหาถ้าไม่ได้ตอบแบบเกินจริง แต่จุดอ่อนนั้น เวลาตอบนั้นต้องตอบวิธีแก้ไขหรือการปรับปรุงพัฒนาตนเองทันที เช่น ไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่กำลังเรียนและฝึกฝนตนเองอยู่ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าเราไม่มีความกระตือรือร้นจะพัฒนาตนเอง

7. เตรียมคำตอบเกี่ยวกับอนาคตการทำงาน
หนึ่งในคำถามเบสิกสำหรับการสัมภาษณ์งานคือ “อีก 5 ปีคุณเห็นตัวเองทำอะไรอยู่” ซึ่งผู้สัมภาษณ์คาดหวังจะได้คำตอบที่เกี่ยวกับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร เช่น เป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาบริษัท ไม่ควรตอบสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่ควรบอกว่าวางแผนจะกลับไปทำงานที่บ้านหรือไปเรียนต่อ เพราะผู้สัมภาษณ์จะมองว่าการรับคุณเข้าทำงานไม่คุ้มค่า เพราะทำงานได้ไม่นานก็ลาออก ต้องเสียเวลาหาคนใหม่และคอยสอนงานอีก
8. เตรียมเงินเดือนที่ต้องการไว้ในใจ
ควรปักธงเอาไว้ในใจแน่นอนว่าต้องการเงินเดือนเท่าไหร่ และต่อรองได้แค่ไหน ไม่ต้องกังวลว่าจะสูงหรือต่ำเกินไปหากประเมินแล้วว่าเหมาะสมกับความสามารถและค่าครองชีพของคุณ ไม่อย่างนั้นถ้าปล่อยให้เขาต่อรองเกินพอดี หรือเสนอเงินต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จะทำให้เงินเดือนไม่พอใช้จนสุดท้ายต้องหางานใหม่อยู่ดี
9. เตรียมตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย
บางบริษัทก็อาจเซอร์ไพรส์โดยการให้คุณแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ หรือพูดคุยสื่อสารกับผู้สัมภาษณ์ที่เป็นชาวต่างชาติด้วย ดังนั้นถ้าไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษแบบถามแล้วตอบได้ทันที ไม่มีสะดุด ควรเขียนสคริปต์การแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ ลิสต์คำถามที่เขามีแนวโน้มจะถาม และเตรียมประโยคภาษาอังกฤษสำหรับตอบเอาไว้ ท่องจำคร่าวๆ ให้พอมีแนวทางการตอบและมีคำศัพท์อยู่ในหัว ที่สำคัญตอนตอบพยายามอย่ากังวลเรื่องไวยากรณ์มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เราเกร็งจนไม่ได้ตอบคำถาม เป็นหนึ่งในสาเหตุที่เขาจะปัดคุณตกจากความสนใจได้ง่ายๆ
10. เตรียมคำถามไปถามด้วย
การสัมภาษณ์งานจะไม่ใช่การถูกถามอยู่ฝ่ายเดียว แต่เราก็สามารถถามเขาได้เช่นกัน ลิสต์คำถามที่สงสัยไว้ได้เลย คำถามที่สำคัญและแนะนำคือ สวัสดิการที่นี่เป็นอย่างไร เข้าออกงานกี่โมง มีทำโอทีหรือทำงานนอกเวลาเยอะไหม เพื่อใช้สำหรับการประกอบการตัดสินใจของเราว่าจะทำงานที่นี่หรือไม่ถ้าสัมภาษณ์งานผ่านแล้ว อย่าลืมว่าเราก็ต้องเลือกงานด้วย ไม่ใช่ว่าเขาเลือกเราเข้าไปทำงานเพียงฝ่ายเดียว และคำถามอื่นๆ ที่ควรถามเพื่อให้ดูว่าเรามีความสนใจในตัวบริษัท เช่น ตำแหน่งที่สมัครทำงานขึ้นตรงกับหัวหน้าเลยหรือไม่ มีสัมมนาหรืออบรมพนักงานบ่อยไหม เป็นต้น
การสมัครงานสำหรับเด็กจบใหม่หรือผู้ไม่มีประสบการณ์ไม่ใช่เรื่องยากถ้ามีความตั้งใจจริงและเตรียมตัวมากพอ และแนวโน้มการได้งานจะมีมากขึ้นหากสามารถพูดคุยกับผู้สัมภาษณ์งานได้อย่างเป็นตัวเอง ไม่เกร็งจนเกินไป เพราะผู้สัมภาษณ์จะมองส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการถามตอบด้วย เช่น ความสามารถในการเข้ากับผู้อื่น ความกล้าแสดงออก การพูดจาที่ชัดเจน ฉับไว ไม่เสียเวลาคิดนาน ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำงานนั่นเอง
บทความแนะนำ
- รายได้แบบ Active Income และ Passive Income คืออะไร?
- วิธีการลงทุนและหารายได้เสริมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สามารถทำได้จริง!
- อยากเป็นนักเขียนนิยาย (Novelist) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักแปลภาษา (Translator) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักการตลาด (Marketer) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นแอร์โฮสเตส/สจ๊วต (Flight Attendant) เริ่มต้นอย่างไรดี?