ล่ามแปลภาษา คืออาชีพที่ท้าทายที่สุดของคนที่มีความรู้ด้านภาษา เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความรวดเร็วและแม่นยำ ไหวพริบในการสื่อสารไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าล่ามทำงานผิดพลาด ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจได้
หน้าที่ของล่ามแปลภาษา (Interpreter)
ล่ามแปลภาษา (Interpreter) แตกต่างกับ นักแปลภาษา (Translator) เพราะนักแปลภาษามีหน้าที่แปลสื่อ เอกสาร ขณะที่ล่ามแปลภาษาจะแปลคำพูดที่ได้ยินทันที เพื่อให้คนสองคนที่สื่อสารกันคนละภาษามีความเข้าใจตรงกัน ดังนั้นจึงเป็นงานที่ท้าทายกว่าเพราะต้องมีความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และต้องจับประเด็นทั้งข้อความ และอารมณ์ของผู้พูด ได้ครบถ้วน ล่ามแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
- ล่ามประจำบริษัท
บริษัทหรือองค์กรจ้างเอาไว้ให้เป็นล่ามเวลามีการประชุม หรือพบลูกค้า ส่วนมากจะเป็นภาษาที่ 3 - ล่ามประจำตัว
นักธุรกิจมักมีล่ามที่องค์กรจัดหามาให้เพื่อเดินทางไปติดต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ มักจ้างเป็นงานๆ ไป - ล่ามที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในศาล
ล่ามที่รับการรับรองและสอบผ่านด้านการแปลเอกสารของกระทรวงยุติธรรม จะทำหน้าที่แปลเวลาศาลไทยพิจารณาคดีของชาวต่างชาติ
ข้อควรรู้สำหรับคนที่อยากเป็นล่ามแปลภาษา (Interpreter)
1. มีความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ภาษา
แน่นอนว่าการเป็นล่ามต้องมีความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ภาษา เพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ให้การสื่อสารระหว่างบุคคลเกิดความผิดพลาดจากการแปล จึงควรหมั่นฝึกฟังและฝึกแปลอยู่เสมอ
2. มีความรู้เฉพาะทาง
การทำงานล่ามไม่ใช่แค่เก่งภาษาก็ทำได้ แต่ต้องมีความรู้เฉพาะทางในเรื่องที่ไปเป็นล่ามด้วย เช่น ความรู้ด้านวิศวะ ความรู้ด้านการแพทย์ เป็นต้น รวมถึงการศึกษาคำศัพท์เฉพาะต่างๆ ที่ต้องใช้ในงานนั้นๆ
3. ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
ล่ามจำเป็นต้องมีไหวพริบในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เช่น คำด่า คำไม่สุภาพ โดยที่ไม่บิดเบือนเนื้อหาที่สำคัญ เช่น เจ้านายด่าลูกน้อง ล่ามก็ต้องแปลในจุดที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงคำด่า คำไม่สุภาพ เป็นต้น
4. เป็นที่รองรับอารมณ์
แน่นอนว่าล่ามมีหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ก็แปลว่าล่ามเหมือนเป็นหนังหน้าไฟ หรือที่รับอารมณ์ไปโดยปริยาย ซึ่งต้องอาศัยความอดทนและการแยกแยะเป็นพิเศษ
5. รับมือมุกตลก
หนึ่งในเรื่องที่ล่ามหลายคนมักปวดหัวก็คือการยิงมุกที่อาจต้องใช้ไหวพริบอย่างมากในการแปลให้อีกคนเข้าใจ เนื่องจากภาษาที่แตกต่างกัน
การเป็นล่ามแปลภาษาอาจมีความกดดันถ้าไม่เชี่ยวชาญด้านภาษาอย่างแท้จริง ดังนั้นถ้าหากเราตั้งใจจะเป็นล่ามไม่ว่าจะทำเป็นอาชีพหลักหรือหารายได้เสริม ควรหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ สื่อสารด้วยภาษาที่ 2 อยู่บ่อยๆ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา
บทความแนะนำ
- อยากเป็นแอร์โฮสเตส/สจ๊วต (Flight Attendant) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักแปลภาษา (Translator) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นล่ามแปลภาษา (Interpreter) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักเขียนนิยาย (Novelist) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักพิสูจน์อักษร (Proof Reader) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักพากย์ (Voice Artist) เริ่มต้นอย่างไรดี?