หลายคนฝันอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เพราะสามารถทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ น่าสนุก ได้เผยแพร่เรื่องราวที่ตนต้องการ มีคนมารับชมและชื่นชอบจนมีแฟนคลับเป็นของตนเอง ทำให้สามารถโน้มน้าวความคิดของคนกลุ่มนั้นให้เอนเอียงมาทางตนได้ง่ายขึ้น แถมยังมีรายได้จากโฆษณาและการรับจ้างรีวิวให้แบรนด์ต่างๆ อีกด้วย ดูเป็นงานที่ทำง่าย ใช้เวลาไม่มาก แต่แท้จริงแล้วหนทางการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คืออะไร?
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ ผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือเป็นดารามาก่อน แต่เป็นคนที่ทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะภาพ บทความ คลิปวิดีโอ เผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เช่น Blog, Facebook, Instagram, YouTube เป็นต้น แล้วมีคนสนใจจนกดติดตามจำนวนมาก และคนที่ติดตามมักจะคล้อยตามกับสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์โน้มน้าวใจได้ง่ายกว่า
ดังนั้นการตลาดผ่านอินฟลูอินเซอร์จึงมีอิทธิพลมากโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อินฟลูเอนเซอร์สามารถแบ่งได้หลายประเภท ส่วนใหญ่จะแบ่งตามจำนวนผู้ติดตาม
1. Celebrity / Mass Publisher
อินฟลูเอนเซอร์กลุ่ม Celebrity หรือ Mass Publisher อาจเป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียงมาก่อน เป็นกลุ่มที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ตั้งแต่หลัก 100,000 – 1,000,000 คน เช่น ดาราดังอย่าง ชมพู่ อารยา คอนเทนต์ที่อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้นำเสนอมักตอบโจทย์คนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่ต้องการร่วมมือกับอินฟลูอินเซอร์กลุ่มนี้เพื่อทำการตลาด มักมีเป้าหมายการสร้าง Mass Awareness เพราะแบรนด์จะผ่านตาคนจำนวนมาก แต่อาจยังไม่สามารถโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าหรือบริการได้
2. Key Opinion Leaders / Professional Publishers / Specialist
อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้มักจะเป็นผู้ที่มีความสนใจหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเผยแพร่ความรู้เรื่องที่ตนเองถนัดจนมีคนติดตามจำนวนหนึ่ง ผู้ติดตามมักมีความสนใจแบบเดียวกัน และมีไม่มากเท่าอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มแรก ไม่สามารถสร้าง Mass Awareness ได้ แต่เหมาะกับการสร้าง Awareness เฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น บิวตี้บล็อกเกอร์ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้ที่ติดตามได้เป็นอย่างดี
3. Micro Influencer
กลุ่มนี้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามไม่เยอะมาก ซึ่งเจ้าของแบรนด์หลายๆ แบรนด์อาจมองข้ามอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ แต่แท้จริงแล้วมีอิทธิพลมาก เพราะผู้ติดตามมักจะรู้สึกว่าเข้าถึงได้ง่ายกว่า การโปรโมทสินค้าและบริการใดๆ น่าจะเกิดจากการใช้จริงแล้วชื่นชอบจึงนำมารีวิว
ข้อควรรู้สำหรับคนที่อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)
1. มีสไตล์ของตัวเอง
สิ่งที่จะทำให้เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้นั้น ต้องเป็นคนที่มีสไตล์ของตัวเอง เพราะคนที่ติดตามเรา มักจะติดตามจากตัวตนของเราเป็นสำคัญ เช่น เป็นคนเฮฮา จริงจัง หรือรักสวยรักงาม เป็นต้น
2. ความน่าเชื่อถือ
ถึงจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายตลกเฮฮา แต่ก็ต้องมีขอบเขตในความตลกนั้น เช่น รู้กาลเทศะ เพราะถ้าไม่มีขอบเขตเลย อาจจะมีคนชอบแค่ช่วงแรกๆ และเพียงฉาบฉวยเท่านั้น แต่นานๆ ไปก็อาจจะมีผู้ติดตามลดลงเพราะทำตัวไม่เหมาะ ถ้ามากเข้าก็อาจถึงขั้นอาจโดนชาวเน็ตแบน หรือขุดวีรกรรมต่างๆ มาประจารณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ถ้าร้ายแรงก็ลามไปถึงการเรียนและการทำงานทีเดียว หรือถ้าจะให้ข้อมูลต่างๆ กับผู้ติดตาม ก็ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ
3. ใส่ใจคอนเทนต์
นอกจากตัวตนของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว สิ่งที่จะทำให้คนติดตามคือคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะในรูปแบบภาพ คลิปวิดีโอ หรือบทความ ควรมีการศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน และบวกกับไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ
4. มีความสม่ำเสมอ
การเป็นอินฟลูเอนเซอร์คือการที่มีอิทธิพล ทำให้คนอื่นคล้อยตามได้ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องทำให้คนชื่นชอบเราเสียก่อน โดยก็ไม่ต่างกับการตีสนิทหรือจีบใครสักคนที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอ การผลิตคอนเทนต์ก็เช่นกัน ถ้าผลิตคอนเทนต์ออกมาไม่สม่ำเสมอ หรือหายหน้าหายตาไปเลย ไม่มาโพส คนก็อาจจะลืมไปได้ จึงควรมีการวางแผนทำคอนเทนต์ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มีคอนเทนต์มาโพสได้ตลอด
5. มีผู้ติดตามไม่มากก็มีคนจ้างรีวิวได้
เนื่องจากปัจจุบัน Micro Influencer มีอิทธิพลในการตลาดแบบ Influencer Marketing มาก เพราะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า
6. บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับดวง
บางคนทำแชแนลหรือบล็อกของตัวเองมานานแต่ก็ไม่ได้ดังมากนัก แต่วันดีคืนดีคอนเทนต์อาจถูกใจผู้คนจนเกิดการแชร์แล้วกลายเป็นไวรัลดังชั่วข้ามคืนก็ได้
7. ใช้โปรแกรมตัดต่อเป็น
ถ้าทำคอนเทนต์เป็นคลิปวิดีโอ ควรมีพื้นฐานด้านการตัดต่อ เพื่อให้คลิปดูน่าสนใจมากขึ้น ถ้าทำคอนเทนต์เป็นบทความพร้อมรูป ก็ควรที่จะปรับแต่งรูปเป็น เพื่อให้รูปมีความสวยงามและน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) นั้นต้องมีความอดทนและความพยายามอย่างมากในช่วงแรกๆ เพราะคนยังไม่รู้จักเรามากนัก ทั้งเรายังเป็นมือใหม่ คอนเทนต์ที่ทำออกมาอาจยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ถ้าเราทุ่มเทและปรับปรุงพัฒนาตนเองตลอดเวลา สักวันก็จะได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
บทความแนะนำ
- รายได้แบบ Active Income และ Passive Income คืออะไร?
- วิธีการลงทุนและหารายได้เสริมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สามารถทำได้จริง!
- อยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นบล็อกเกอร์ (Blogger) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นยูทูบเบอร์ (YouTuber) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักแคสท์เกม (Game Caster) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักเขียนนิยาย (Novelist) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากเป็นนักวาดการ์ตูน (Cartoonist) เริ่มต้นอย่างไรดี?
- อยากขายภาพออนไลน์ (Stock Photo) เริ่มต้นอย่างไรดี?