ปัจจุบัน การท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นที่นิยมมาก เพราะตามเว็บบอร์ดอย่าง Pantip และโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ก็มีกระทู้และโพสต์รีวิวแนะนำการท่องเที่ยวต่างประเทศมากมายหลากหลาย ทั้งแบบถูกและประหยัด แบบแบ็คแพ็คเที่ยวคนเดียว เที่ยวหลายคน เที่ยวเป็นกลุ่มทั้งกับครอบครัวและเพื่อน ซึ่งพาหนะในการเดินทางที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องบินโดยสาร อีกทั้งยังเป็นการเดินทางที่รวดเร็วที่สุดในยุคปัจจุบัน
แต่ระหว่างที่ผู้โดยสารนั่งบนเครื่องบินก็ต้องการความสะดวกสบายแตกต่างกันไป ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเลือกประเภทสายการบินและระดับชั้นตั๋วเครื่องบิน ว่ามีบริการแบบไหน เหมาะกับความต้องการของเราหรือไม่ ทั้งนี้แม้แต่การเลือกที่นั่งบนเครื่องบินก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย
ประเภทสายการบินโดยสาร (Passenger Airlines)
สารการบินโดยสารเป็นสายการบินสำหรับขนส่งผู้โดยสาร แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
เป็นสายการบินที่มีชั้นธุรกิจและชั้นประหยัดภายในเครื่องบิน และมีบริการที่ได้มาตรฐานสากลทั่วโลก แต่บางสายการบินอาจจะมีที่นั่งชั้นหนึ่งหรือชั้นประหยัดพิเศษให้บริการด้วย ตัวอย่างสายการบินฟูลเซอร์วิส เช่น สายการบินไทย (Thai Airlines) และ แจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines) เป็นต้น
2. สายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines)
สายการบินประเภทนี้จะมีราคาค่าตั๋วถูกกว่าสายการบินอื่นๆ เพราะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของการบินได้ เช่น เช่น เครื่องแบบพนักงาน อาหารบริการบนเครื่องบิน จึงสามารถขายตั๋วราคาประหยัดให้ผู้โดยสารได้ และมีการขายตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การวางแผนจัดการเที่ยวบินจึงง่ายและรวดเร็ว ลดความเสี่ยงของสายการบินที่จะมีผู้โดยสารไม่เต็มลำ ตัวอย่างสายการบินต้นทุนต่ำ เช่น แอร์เอเชีย (Air Asia) และ นกแอร์ (Nok Air) เป็นต้น
3. สายการบินในภูมิภาค (Regional Airlines)
เป็นสารการบินที่บินอยู่ภายในภูมิภาคนั้นๆ มีระยะทางการบินไม่ไกล โดยส่วนมากมักจะใช้เครื่องบินขนาดเล็กแบบใบพัด มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 100 ที่นั่ง นอกจากนี้บางสายการบินในภูมิภาคยังมีบริการแบบพรีเมี่ยมและยังเพิ่มเส้นทางการบินไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์ (Bangkok Airways)
4. สายการบินเช่าเหมาลำ (Charter Airlines)
สายการบินประเภทนี้ไม่มีการบินแบบประจำ เพราะจะบริการแบบให้เช่าเหมาลำโดยเฉพาะ บางสายการบินมีเครื่องบินเช่าเหมาลำที่จัดที่นั่งแต่ชั้นประหยัด หรืออาจจะมีชั้นธุรกิจเพิ่มมาด้วย ซึ่งรวมไปถึงเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) ตัวอย่างสายการบิน เช่น บิซิเนสแอร์ (Business Air)
ระดับชั้นตั๋วเครื่องบินโดยสาร (Class)
ชั้นที่นั่งบนเครื่องบินจะมีการอำนวยความสะดวกสบายแตกต่างกัน แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ชั้นหนึ่ง หรือ เฟิร์สคลาส ( First class : ตัวย่อ F Class)
เป็นชั้นที่มีบริการพิเศษสุด ตำแหน่งของที่นั่งเฟิร์สคลาสมักอยู่หลังห้องนักบิน เพราะมีพื้นที่กว้างขวางและเป็นส่วนตัวเนื่องจากไม่มีผู้โดยสารคนอื่นเดินผ่าน อาจมีทั้งชั้นบนและชั้นล่างของเครื่องบิน เก้าอี้มีขนาดใหญ่ สะดวกสบาย มีบริการอาหารชนิดพิเศษ เหล้า ไวน์ และอาจมีแชมเปญบริการฟรี รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและสิ่งบันเทิงต่างๆ สามารถนำสัมภาระติดตัวไปได้มาก ส่วนใหญ่ได้คนละประมาณ 40 กิโลกรัม จำนวนที่นั่งของชั้นเฟิร์สคลาสมีจำกัด และมีราคาสูงกว่าที่นั่งปกติหลายเท่า
สายการบินจะเลือกใช้รหัสในการออกตั๋ว ดังนี้
- R : ใช้ในเครื่องบินประเภทความเร็วเหนือเสียงหรือ Supersonic
- P (First Class Premium) : ชั้นหนึ่งบริการพิเศษ
- F (First Class) : ชั้นหนึ่ง
- A (First Class Discounted) : ชั้นหนึ่งราคาพิเศษ
2. ชั้นธุรกิจ หรือ บิสสิเนสคลาส (Business Class : ตัวย่อ C Class)
ที่นั่งชั้นธุรกิจโดยทั่วไปจะอยู่บริเวณถัดจากที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาส อาจมีทั้งชั้นบนและชั้นล่างของเครื่องบินเช่นกัน ส่วนด้านการบริการจะรองลงมาจากชั้นเฟิร์สคลาส เช่น อาหาร ขนาดของที่นั่ง แต่จะมีเครื่องดื่มที่ให้บริการคล้ายกับชั้นเฟิร์สคลาส ส่วนใหญ่สามารถนำสัมภาระติดตัวไปได้คนละประมาณ 30 กิโลกรัม ค่าโดยสารมีราคาปานกลาง
สายการบินจะเลือกใช้รหัสในการออกตั๋ว ดังนี้คือ
- J (Business Class Premium) : ชั้นธุรกิจบริการพิเศษ
- C (Business Class) : ชั้นธุรกิจ
- D, I, Z (Businees Class Discounted) : ชั้นธุรกิจราคาพิเศษ
3. ชั้นประหยัด (Economy Class : ตัวย่อ Y Class)
ชั้นประหยัดธรรมดาเป็นที่นั่งที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่นิยมที่สุดเพราะตั๋วมีราคาย่อมเยา ที่นั่งชั้นประหยัดมีจำนวนที่นั่งมากที่สุด อยู่บริเวณส่วนกลางของเครื่องบิน ตั้งแต่ส่วนปีกจนถึงส่วนหางของเครื่องบิน เก้าอี้นั่งไม่สามารถปรับนอนราบได้ ปรับเอนได้อย่างเดียว อาหารและเครื่องดื่มมีให้บริการแต่เป็นแบบธรรมดาทั่วไป สัมภาระที่นำติดตัวได้ค่อนข้างน้อย ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อคนเท่านั้น
สายการบินใช้รหัสในการออกตั๋วโดยสาร ดังนี้คือ
- S, Y (Economy Class) : ชั้นประหยัด
- B, II, K, L, M, T, Q, V, X (Economy Class Discounted) : ชั้นประหยัดลดราคาพิเศษ
เก้าอี้ของที่นั่งชั้นประหยัดแบบพรีเมียมมีความสบายกว่าชั้นประหยัดธรรมดา คือกว้างเทียบเท่าชั้นธุรกิจ และมีค่าโดยสารแพงกว่าชั้นประหยัดธรรมดาด้วย อย่างไรก็ตามเก้าอี้ไม่สามารถปรับนอนราบได้ เพียงเอนได้ตามปกติเท่านั้น ส่วนด้านการบริการเหมือนชั้นประหยัดทั่วไป ชั้นที่นั่งนี้มักไม่เปิดให้บริการทุกเส้นทาง ส่วนมากมักเป็นเส้นทางที่ไกลพอสมควร ต้องบินนาน (Long Haul Flight) เกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป เช่น บินไปอเมริกาหรือยุโรป
การเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat)
ที่นั่งโดยหลักๆ บนเครื่องบินสามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ
1. ที่นั่งริมหน้าต่าง (Window Seat)
ที่นั่งริมหน้าต่างเป็นที่นั่งยอดนิยม เพราะเป็นที่นั่งที่ผู้โดยสารสามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ เหมาะสำหรับเดินทางระยะไกล แต่ข้อเสียคือ ถ้าต้องลุกจากที่นั่งเพื่อไปทำธุระ เช่น เข้าห้องน้ำ ต้องผ่านคนที่นั่งข้างๆ ยิ่งถ้าเป็นคนแปลกหน้าและลุกเข้าออกหลายครั้งอาจก่อให้เกิดความรำคาญกันได้ และอาจทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวกเท่าที่ควร ส่วนข้อดีคือเหมาะกับคนที่ต้องการหลับบนเครื่อง เพราะเป็นที่นั่งที่ไม่ถูกรบกวนจากผู้โดยสารคนอื่น
2. ที่นั่งริมทางเดิน (Aisle Seat)
เป็นที่นั่งอยู่ติดทางเดิน สามารถเข้าออกที่นั่งได้สะดวก เหมาะสำหรับคนที่ลุกไปทำธุระบ่อย ไม่ต้องรบกวนคนที่นั่งข้างๆ แต่มีข้อเสียคือ มักมีผู้โดยสารคืนอื่นเดินผ่านไปมา
สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางในระยะไกลซึ่งใช้เวลายาวนานบนเครื่องบิน การเลือกประเภทสายการบิน ชั้นที่นั่ง และตำแหน่งที่นั่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดี เพราะการนั่งบนเครื่องบินนานๆ โดยไม่ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับตนเอง อาจจะทำให้มีอาการเมื่อยล้า หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จนการไปเที่ยวหรือทำธุระต่างๆ เป็นไปไม่ราบรื่นนัก