AED คืออะไร?
AED ย่อมาจากคำว่า Automated External Defibrillator หรือ เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจฉับพลันของคนป่วยได้โดยอัตโนมัติ และช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ทันทีด้วยการช็อตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นหัวใจ หยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่ถูกต้อง เพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานอย่างปกติได้อีกครั้ง สามารถช่วยให้มีอัตราการรอดตายถึง 75% ซึ่งด้วยความที่เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน จึงเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา และมีติดตั้งในที่สาธารณะ คนที่ไม่เคยใช้งานมาก่อนก็สามารถใช้ได้ผ่านคำแนะนำจากเสียงพูดและภาพประกอบบนจอ ทำให้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
หลักการทำงานของเครื่อง AED
เครื่อง AED เป็นอุปกรณ์การแพทย์แบบพกพาที่สามารถช่วยชีวิตแก่ผู้ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือภาวะที่หัวใจเต้นเร็วมากเกินไปจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากพอเนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่คอยกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานมีความปั่นป่วน เครื่อง AED จะช่วยหยุดการทำงานผิดปกติของกระแสไฟฟ้าที่คอยกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นการหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะที่ถูกต้อง
ปัจจุบันเครื่อง AED มีการออกแบบและผลิตขึ้นหลายรุ่น โดยมีระดับความก้าวหน้าในการให้ข้อมูลและการใช้ที่แตกต่างกัน ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกก็สามารถนำไปใช้ช่วยชีวิตได้ มีน้ำหนักเบา เคลื่อนที่ได้สะดวก พร้อมขั้นตอนที่ถูกต้องและปลอดภัย เป็นเครื่องมืออัตโนมัติที่สามารถประเมินสถานการณ์ของคนเจ็บป่วยได้ทันทีและให้การรักษาในกรณีที่ต้องการกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจอันนำไปสู่การไหลเวียนของโลหิตสู่สมองและส่วนอื่นของร่างกายได้ทันท่วงที
การใช้งานเครื่อง AED เบื้องต้น
การใช้งานเครื่อง AED เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน โดยหัวใจจะบีบตัวผิดจังหวะอย่างรุนแรง ทำให้หัวใจห้องล่างไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจะทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติอีกครั้ง เพราะจะช่วยหยุดกระแสไฟฟ้าที่คอยกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานผิดรูปแบบ และเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นแบบปกติ เมื่อทำการเปิดสวิทซ์ AED จะให้คำสั่งเป็นภาษาต่างๆ ตามที่ตั้งไว้ทั้งเสียง และภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากให้เอาขั้วไฟฟ้าที่เป็นผ้านิ่มเชื่อมต่อเข้ากับคนป่วย เครื่องมือก็จะตรวจสถานะความเจ็บป่วยของคนไข้ ประเมินว่าสมควรได้รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าหรือไม่
ข้อควรระวังขณะใช้งานคือ ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วยระหว่างเครื่อง AED กำลังวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งหลังจากที่เครื่องบอกว่าปลอดภัยที่จะสัมผัสผู้ป่วยได้แล้ว ให้ทำการกดหน้าอกทันที หรือหากเครื่องมีปัญหาในการทำงาน ให้ทำการกดหน้าอกต่อไปจนกว่าเครื่องจะพร้อมใช้งาน