แชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) เป็นธุรกิจผิดกฎหมายที่หลอกลวงให้คนสนใจเข้าร่วมลงทุนด้วยการชวนเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับธุรกิจขายตรงที่เป็นธุรกิจถูกกฎหมาย ขบวนการแชร์ลูกโซ่จึงทำธุรกิจโดยมักแอบอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรงอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่อยากถูกโกงไม่รู้ตัว เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่เอาไว้ให้ดี
แชร์ลูกโซ่คืออะไร?
แชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) คือ การทำธุรกิจที่เน้นหารายได้จากการระดมทุน โดยอ้างกับนักลงทุนว่าจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น น้ำมัน นำเงินไปปล่อยกู้ต่อ และสัญญาจะให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ซึ่งมักจะบอกว่าผลตอบแทนที่ได้จะสูงกว่าเงินลงทุน หรือ ผลตอบแทนสูงมากในช่วงสั้นๆ เช่น 1 เดือน 3 เดือน หรือ 1 ปี
ในความเป็นจริง ผู้ลงทุนในแชร์ลูกโซ่จะได้รับผลตอบแทนสูงเฉพาะช่วงแรก เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้ลงทุนร่วมลงทุนต่อ แต่บริษัทที่ระดมทุนก็จะเริ่มหาทางหลีกเลี่ยงจ่ายผลตอบแทนในระยะเวลาต่อมา เพราะความจริงแล้วไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุน เพียงนำเงินของสมาชิกใหม่ไปให้สมาชิกเก่าเท่านั้น และเมื่อสมาชิกเพิ่มมากขึ้นจนหมุนเวียนเงินไม่ทัน บริษัทก็จะปิดตัวไปในที่สุด
จะรู้ได้อย่างไรว่าการลงทุนนี้คือแชร์ลูกโซ่?
1. ไม่ว่าใครก็ร่วมลงทุนได้
แชร์ลูกโซ่จะต้องการผู้ร่วมลงทุนจำนวนมาก ทำให้ไม่ว่าใครก็ร่วมลงทุนได้ และจะได้รับส่วนแบ่งเพิ่มเมื่อชักชวนคนอื่นมาลงทุนด้วย
2. ผลตอบแทนสูงกว่าเงินลงทุน
แชร์ลูกโซ่ให้ผลตอบแทนสูงมากในระยะแรกเพื่อดึงดูดให้คนสนใจร่วมลงทุน ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเพียงระยะแรกเท่านั้น
3. ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้
การลงทุนทุกประเภทต้องตรวจสอบงบการเงินได้ ไม่ว่าจะเงินลงทุน กำไร โดยสามารถตรวจสอบจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ และเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4. มีการจัดสัมมนาใหญ่โต
ธุรกิจที่มีการจัดอบรมสัมมนาเพื่อเข้าฟังแผนธุรกิจของบริษัท แม้แต่คนนอกก็เข้าร่วมได้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ เพราะผู้จัดอบรมจะโน้มน้าวให้คนเข้าฟังสัมมนาสนใจธุรกิจและร่วมลงทุนนั่นเอง
5. อ้างอิงความสำเร็จของผู้ลงทุนก่อนหน้า
แชร์ลูกโซ่มักยกความสำเร็จของผู้ลงทุนก่อนหน้ามาโน้มน้าว รวมไปถึงอ้างว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมลงทุนด้วย ไม่ว่าจะดารา นักร้อง นักแสดง เพื่อความน่าเชื่อถือให้กับแชร์ลูกโซ่มากขึ้น
ลักษณะของแชร์ลูกโซ่ที่พบได้บ่อย
1. ลงทุนในสินค้าเกษตร
ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ เช่น กฤษณา มะม่วง ไม้สัก โดยจะมีการปั่นราคาในตลาด ทำให้คนสนใจร่วมลงทุนคิดว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงตามคำชวนเชื่อ
2. มาในรูปแบบขายตรง
เนื่องจากรูปแบบธุรกิจขายตรงมีความคล้ายกับแชร์ลูกโซ่ตรงการชักชวนคนมาร่วมทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก แต่ธุรกิจขายตรงจะมีสินค้าและบริการของตัวเองทำให้ดูน่าเชื่อถือกว่า ทำให้แชร์ลูกโซ่มักแอบอ้างตัวเป็นธุรกิจขายตรง ใช้สินค้าหรือบริการบางอย่างเป็นตัวบังหน้า (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจขายตรง)
3. ลงทุน FOREX
FOREX คือการลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เห็นผลตอบแทนจำนวนมาก ขบวนการแชร์ลูกโซ่จึงชอบนำมาแอบอ้าง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FOREX)
4. เล่นแชร์ออนไลน์
มีลักษณะให้เล่นแชร์เป็นแพ็คเกจทางโซเชียลมีเดีย เช่น Line, Facebook เมื่อวงแชร์มีขนาดใหญ่ เจ้ามือก็จะปิดวงแชร์หนีไปพร้อมเงินแชร์
5. เป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวราคาถูก
ปัจจุบันคนนิยมการท่องเที่ยวกันมากขึ้น ยิ่งทริปราคาถูกก็ยิ่งเป็นที่สนใจ ขบวนการแชร์ลูกโซ่จึงนำมาแอบอ้าง โดยขายแพ็คเกจท่องเที่ยวราคาถูก แต่ต้องจ่ายค่าสมัครแรกเข้าและค่าสมาชิกรายเดือนเพื่อสิทธิ์ในการซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยว
6. ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล
สกุลเงินดิจิทัลเป็นการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน กลุ่มแชร์ลูกโซ่จะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาแอบอ้างว่าเป็นนิติบุคคล และใช้ AI ในการดำเนินการเทรดสกุลเงินดิจิทัล โดยจะเทรดให้ได้กำไรเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล)
แชร์ลูกโซ่ต่างจากธุรกิจขายตรงอย่างไร?
อย่างที่กล่าวไปด้านบนว่าแชร์ลูกโซ่คือธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง มักมีการอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรงอย่างหนึ่ง เงินที่นำมาจ่ายเป็นผลตอบแทนก็คือเงินสมัครสมาชิกของสมาชิกใหม่ และมักไม่มีตัวสินค้าหรือบริการที่ขายได้จริง มีเพียงเพื่อนำมาชักจูงคนให้มาสนใจสมัครเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับธุรกิจขายตรงแบบถูกกฎหมาย มีการจดทะเบียนถูกต้อง มีสินค้าที่มีคุณภาพและใช้งานได้จริง และขายในราคาสมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ก็อาจจะอยู่ในคราบของธุรกิจขายตรงที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนแผนธุรกิจมาเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ในภายหลังโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นให้ดี ถ้ารู้สึกถึงอะไรแปลกๆ จะได้ไหวตัวทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
บทความแนะนำ
- ธุรกิจขายตรง (Direct Sales) ธุรกิจเครือข่าย (MLM) คืออะไร?
- MLM (ธุรกิจขายตรง ธุรกิจเครือข่าย) คืออะไร? ดีจริงหรือไม่?
- Pre-Order (พรีออเดอร์) และ Dropship (ดรอปชิป) คืออะไร? เลือกแบบไหนดี?
- Franchise (ธุรกิจแฟรนไซส์) คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
- Affiliate (แอฟฟิลิเอท) คืออะไร? Affiliate Marketing มีหลักการทำงานอย่างไร?