ปัจจุบันการหารายได้ผ่านช่องทางบนโลกออนไลน์เป็นอะไรที่ค่อนข้างง่าย สะดวก รวดเร็ว ซึ่งสิ่งที่นิยมมากที่สุดคือการขายของออนไลน์ เพราะแค่มีสินค้าแล้วโพสต์ลงขายบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถใช้งานได้ฟรีก็สามารถขายของได้แล้ว นอกจากขายของออนไลน์แล้ว การเป็นตัวแทนช่วยโปรโมทสินค้าหรือบริการที่เรียกว่า “การทำ Affiliate” เพราะสะดวกและง่าย ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง ไม่ต้องคอยรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหาเหมือนกับการขายสินค้าโดยตรง
นอกจากนี้ ทางฝั่งเจ้าของธุรกิจก็สามารถเพิ่มโอกาสในการขายได้ด้วย “การทำ Affiliate Marketing” ซึ่งเป็นการทำการตลาดออนไลน์ที่ผลลัพธ์ที่ดีและยังได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าของธุรกิจที่สามารถขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น และตัวแทนที่ช่วยโปรโมทสินค้าหรือบริการซึ่งจะได้เงินเป็นค่านายหน้าจากการขาย
Affiliate (แอฟฟิลิเอท) คืออะไร?
Affiliate ในเชิงธุรกิจออนไลน์ คือ การที่เจ้าของธุรกิจอาศัยตัวกลางในการช่วยขายสินค้าหรือบริการ โดยให้ผลตอบแทนในรูปแบบค่า Commission (คอมมิสชั่น) กับผู้ที่เข้าร่วม ซึ่งอาจกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดที่ขายได้ หรือกำหนดเป็นตัวเลขตายตัวก็ได้ โดย Affiliate มีผู้เกี่ยวข้องหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ
- Advertiser (เจ้าของสินค้า/บริการ) ที่ต้องการขายสินค้า/บริการ
- Publisher (เจ้าของสื่อ) ที่ช่วยขายหรือโฆษณาสินค้า/บริการ
- Customer (ลูกค้า) ที่ซื้อสินค้า/ใช้บริการ
โดยทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ Advertiser ได้ขายสินค้าหรือบริการ ส่วน Publisher ได้รับ Commission จากการช่วยขาย และ Customer ได้รับสินค้าหรือได้ใช้บริการ
Affiliate Marketing คืออะไร?
Affiliate Marketing เป็นการตลาดบนออนไลน์ผ่านผู้ที่มีอิทธิพลบนโลกอินเตอร์เน็ตหรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก คนเหล่านี้จะช่วยแนะนำหรือรีวิวสินค้าหรือบริการบนสื่อของตนเองในช่องทางออนไลน์ พร้อมติดตั้งลิงค์ (URL) สินค้าที่สามารถตรวจสอบการขายได้ เมื่อมีคนคลิกผ่านหรือซื้อสินค้า/บริการผ่านลิงค์นั้นๆ ทางเจ้าของธุรกิจก็ต้องจ่ายค่า Commission (คอมมิสชั่น) ให้ตามที่ตกลง
องค์ประกอบและหลักการทำ Affiliate Marketing
ในการทำการตลาดแบบ Affiliate Marketing มีองค์ประกอบและการดำเนินการที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. Advertiser (เจ้าของสินค้า/บริการ)
เจ้าของสินค้าหรือบริการที่ต้องการเพิ่มช่องทางการขายให้กับเว็บไซต์ของตน อาจเป็นบริษัทใหญ่ เช่น Amazon, Agoda จนถึงบุคคลทั่วไปที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
2. Publisher (เจ้าของสื่อ)
เป็นบุคคลที่มีเว็บไซต์หรือพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เช่น บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ และต้องสมัครเข้าร่วม Affiliate โดยมีหน้าที่คือช่วยโฆษณาสินค้าหรือบริการของ Advertiser ผ่านช่องทางออนไลน์ของตน เช่น เขียนบทความโปรโมทบนบล็อกของตนเอง แนะนำสินค้าบน Facebook หรือทำวิดีโอรีวิวใน YouTube เป็นต้น
3. Affiliate Provider (ตัวกลาง)
เป็นตัวกลางหรือระบบที่เชื่อม Advertiser และ Publisher เข้าด้วยกัน ข้อมูลต่างๆ ระหว่าง Publisher และ Customer จะถูกเก็บและสามารถตรวจสอบการขายได้ที่นี่ โดย Affiliate Provider สามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้
3.1 Affiliate Program
เป็นระบบที่ Advertiser สร้างหรือเช่าระบบมาเอง เพื่อให้ Publisher เข้าร่วมโดยตรง เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเช่น Amazon Associates ของบริษัท Amazon โดยเริ่มจากการสมัครสมาชิกและจะได้รับป้ายแบนเนอร์โฆษณาหรือลิงค์แนะนำที่เป็นรหัส ID เฉพาะให้กับ Publisher แต่ละคน เพื่อให้ทราบว่า Customer คลิกสั่งซื้ออะไรจาก Publisher คนไหน ซึ่งระบบจะบันทึกไว้และนำไปคำนวณเป็นค่า Commission ให้กับ Publisher
3.2 Affiliate Network
เครือข่ายตัวกลางที่ Advertiser ไม่ต้องทำระบบเอง เป็นบริษัทที่ทำหน้าที่รวบรวมผู้ที่ต้องการจำหน่ายสินค้าด้วย Affiliate Marketing พร้อมกับรวบรวม Publisher ที่สนใจหารายได้มาเป็นสมาชิกในระบบ และเรียกเก็บเป็นค่าใช้บริการหรือ Commission จาก Advertiser ซึ่งการใช้ Affiliate Network นี้จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสร้าง Affiliate Program จึงเหมาะสำหรับธุรกิจที่ไม่ใหญ่มาก
4. User (ผู้ใช้งาน) และ Customer (ลูกค้า)
เป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์ บล็อก หรือผู้ติดตามในสื่อโซเชียลมีเดีย ของฝั่ง Publisher ซึ่งหากซื้อสินค้าหรือบริการก็จะกลายเป็น Customer ของฝั่ง Advertiser

ข้อดีของการทำ Affiliate
สำหรับฝั่ง Advertiser
- การตลาดแบบ Affiliate Marketing นี้เป็นที่นิยมบนโลกออนไลน์ ผู้ซื้อมักสนใจสินค้าหรือบริการจากคนที่ตนเองติดตามโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว จึงสามารถขายได้ง่ายขึ้น
- เป็นการโฆษณาที่สามารถติดตามผลและวัดผลได้ ไม่ต้องเสียเงินทุ่มกับค่าโฆษณารูปแบบอื่นที่คาดการณ์ผลล่วงหน้าแน่นอนไม่ได้
- สามารถกำหนดค่าตอบแทนให้กับ Publisher เองได้ เช่น ส่วนแบ่งจากยอดขายที่สามารถทำได้
- ไม่ต้องหา Publisher เอง ถ้าใช้งาน Affiliate Network ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Affiliate Network จำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องสร้าง Affiliate Program ของตัวเองที่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายและมีความยุ่งยากมากกว่าในการบริหารจัดการ
สำหรับฝั่ง Publisher
- ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม Affiliate
- สามารถเลือก Advertiser ได้ตามต้องการ อีกทั้งสินค้าและบริการยังมีให้เลือกหลากหลายตามความถนัดในการขายของตนเอง เช่น สินค้าทั่วไป การจองตั๋วเครื่องบิน การจองโรงแรม การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น เป็นต้น
- ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง จึงไม่เสี่ยงกับความเสียหายในการสต๊อกสินค้า
- ต้นทุนต่ำ ถ้ามีต้นทุนอาจเป็นค่า Domain name และ Hosting ของเว็บไซต์ตนเอง ซึ่งอาจจะทำไว้อยู่แล้ว เฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 บาท หรืออาจเป็นการลงโฆษณาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย
- เป็นเจ้านายตนเอง สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ทุกที่ทุกเวลา
- รับรายได้ผ่านการโอนทางบัญชีธนาคาร หรือ PayPal ซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็ว
หลังจากที่ได้รู้หลักการและองค์ประกอบของ Affiliate Marketing กันมากขึ้นแล้ว ทีนี้การหารายได้บนโลกออนไลน์ก็จะง่ายขึ้น ใครที่ยังไม่มีช่องทางบนโซเชียลมีเดียก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยไม่เสียค่าสมัคร ทั้งทาง Blogger, Facebook หรือ Youtube โดยต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้คนสนใจ เมื่อมีผู้ติดตามแล้วก็สามารถทำการตลาดแบบ Affiliate เพื่อหารายได้ได้เลย ส่วนใครที่อยากเพิ่มยอดขายทางออนไลน์ก็สามารถสมัครเป็น Publisher ได้ไม่ยาก ขอเพียงมีเว็บไซต์ที่สามารถติดตั้งโค้ดต่างๆ ที่ใช้ในการตรวจสอบการขายได้
บทความแนะนำ
- E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไร? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร?
- E-Marketplace คืออะไร? มีข้อดีอย่างไร?
- การค้าปลีก (Retail) การค้าส่ง (Wholesale) คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
- ธุรกิจขายตรง (Direct Sales) ธุรกิจเครือข่าย (MLM) คืออะไร?
- Franchise (ธุรกิจแฟรนไซส์) คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
- Pre-Order (พรีออเดอร์) และ Dropship (ดรอปชิป) คืออะไร? เลือกแบบไหนดี?
- Affiliate (แอฟฟิลิเอท) คืออะไร? Affiliate Marketing มีหลักการทำงานอย่างไร?