สำหรับนักลงทุนทุกคน ไม่ว่าจะลงทุนทำธุรกิจของตนเอง ลงทุนในหุ้น ลงทุนในกองทุนรวม ลงทุนในตราสารหนี้ ก็คงไม่มีใครอยากเผชิญกับการขาดทุน ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับได้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าจะมีประสบการณ์มากหรือน้อยก็มีโอกาสขาดทุนได้ จึงต้องรู้ระดับความเสี่ยงในการลงทุนรูปแบบต่างๆ เป็นอย่างดีก่อนจะเริ่มลงทุน หรือเพื่อให้ปรับตัวได้ทันหากลงทุนไปแล้วนั่นเอง
ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุน
ผู้ลงทุนแต่ละคนมีความเสี่ยงที่รับได้แตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งระดับความเสี่ยงได้ดังนี้
- รับความเสี่ยงได้ต่ำ (Conservative)
การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการรักษาเงินต้น เป็นการลงทุนที่มีความผันผวนน้อยมาก แต่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำตามมาด้วย - รับความเสี่ยงได้ปานกลาง (Moderate)
การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง จะมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น แลกกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง การลงทุนในความเสี่ยงระดับนี้ผู้ลงทุนต้องมีการศึกษาวิเคราะห์มาระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการลงทุนที่ไม่ต้องคาดการณ์ทิศทางของตลาดมากนัก หรืออาจมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเรื่องบริหารเงินให้อยู่แล้ว - รับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive)
การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง จะมีผลตอบแทนสูง แลกกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นและความผันผวนที่สูงมาก และมีโอกาสที่เงินลงทุนจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น การลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ก่อนการลงทุนมาเป็นอย่างดี
ระดับความเสี่ยงในการลงทุน
ความเสี่ยงในการลงทุนคือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงแต่ก็เสี่ยงสูญที่จะสูญเงินลงทุนเช่นกัน ซึ่งการลงทุนแต่ละรูปแบบก็มีความเสี่ยงที่ต่างกันไป โดยสามารถจัดระดับได้ดังนี้
ระดับความเสี่ยงต่ำ
• เงินฝากธนาคาร (Bank Deposit)
คือ การนำเงินของเราไปเปิดบัญชีเพื่อฝากไว้กับธนาคารและได้กำไรเป็นดอกเบี้ย การลงทุนประเภทนี้ได้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำตามความเสี่ยงที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่มีทางที่เงินต้นของเราจะสูญหายไปได้เลย อย่างไรก็ตามอัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินฝากและระยะเวลาการฝากเงิน ที่นิยมคือเงินฝากประจำเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แต่เราต้องเสียภาษี 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งก็มีอีกทางเลือกคือเงินฝากแบบปลอดภาษี เพียงแต่ต้องทำตามเงื่อนไขของธนาคารให้ครบจึงจะไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทเงินฝากธนาคาร)
• ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)
คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออม มีลักษณะคล้ายกับการฝากเงินที่ไร้ความเสี่ยง แต่ได้การคุ้มครองประกันชีวิตแถมมาด้วย มีข้อดีคือผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งยังใช้ลดหย่อนภาษีได้ถ้ามีอายุกรมธรรม์มากกว่า 10 ปี ซึ่งเราสามารถเลือกระยะเวลาในการทำประกันชีวิตได้ตั้งแต่ 5 ปี ไปจนกระทั่ง 50 ปี อย่างไรก็ตามผลตอบแทนจะค่อนข้างน้อย อยู่ที่ประมาณ 2 – 4 % ต่อปีเท่านั้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันชีวิต)
ระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ
• ตราสารหนี้ (Bond)
คือ ตราสารทางการเงินที่เป็นการกู้ยืมเงินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ออกตราสารต้องการเงินไปลงทุน ส่วนผู้ซื้อตราสารจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ จะได้รับดอกเบี้ยตอบแทนโดยมีการระบุวันที่จ่ายดอกเบี้ยและวันครบกำหนดไถ่ถอนอย่างชัดเจน ข้อดีคือมีความเสี่ยงต่ำ ไม่เสียเงินต้น และถ้าลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะสามารถรักษาเงินต้นจากเงินเฟ้อได้ด้วย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้)
ระดับความเสี่ยงปานกลาง
• กองทุนรวม (Mutual Fund)
คือ การระดมทุนจากนักลงทุนเพื่อให้ได้เงินทุนก้อนใหญ่ แล้วบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะนำกองทุนไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จากนั้นผู้จัดการกองทุนจะนำเงินไปลงทุน เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เป็นต้น ส่วนนักลงทุนจะได้เงินปันผลจากการลงทุน มีข้อดีคือเหมาะกับผู้มีงบจำกัด และไม่มีประสบการณ์หรือความชำนาญในการลงทุน เช่น มีงบลงทุนเพียง 2,000 บาท จะไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ราคา 100,000 บาทได้ แต่สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ได้ ทั้งยังมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลด้านการบริหารให้อยู่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวม)
ระดับความเสี่ยงค่อนข้างสูง
• หุ้น (Stock)
คือ ตราสารทุนที่กิจการออกให้กับนักลงทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจการ ผู้ถือหุ้นจะมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” นอกจากการมีสิทธิในกิจการแล้ว จะได้เงินปันผลเมื่อกิจการมีกำไร โดยให้ผลตอบแทนที่สูงตามความเสี่ยงที่สูงตามมา เพราะว่าราคาของหุ้นขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกิจการ อย่างไรก็ตามหุ้นมีสภาพคล่องสูงเพราะสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น)
ระดับความเสี่ยงสูง
• อนุพันธ์ (Derivatives)
คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ออกให้สิทธิกับผู้ซื้อในการซื้อขายหลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ตามราคา และเวลาที่กำหนด แต่ผู้ที่ออกตราสารให้ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหุ้นแต่เป็นบุคคลที่ 3 เช่น ตลาดหลักทรัพย์ มีข้อดีคือใช้เงินเริ่มต้นลงทุนน้อยกว่าการซื้อขายหุ้นโดยตรง เพราะเหมือนเป็นการซื้อขายส่วนต่างของราคาเท่านั้น ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า แต่ผู้ที่ลงทุนในอนุพันธ์จำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ไม่อย่างนั้นอาจขาดทุนได้
ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มต้นลงทุน ควรเลือกลงทุนในระดับที่มีความเสี่ยงน้อยก่อน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทิศทางของตลาดจากประสบการณ์จริง เมื่อเริ่มชำนาญและมีความรู้เพิ่มมากขึ้นแล้ว จึงค่อยๆ เริ่มลงทุนในแบบที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าลงทุนในแบบที่มีความเสี่ยงสูง ก็ต้องพร้อมรับการขาดทุนที่อาจตามมาเช่นกัน
บทความแนะนำ
- รูปแบบการลงทุนและระดับความเสี่ยงในการลงทุน
- ประโยชน์ของการลงทุน และข้อควรระวังในการลงทุน
- กองทุนรวม (Mutual Fund) และ หุ้น (Stock) คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร?
- หุ้น (Stock) คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นเล่นหุ้นอย่างไรดี?
- ตราสารหนี้ (Bond) คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุนในตราสารหนี้อย่างไรดี?
- Forex คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นเทรด Forex อย่างไรดี?
- ลงทุนในทองคำ (Gold) มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุน เก็งกำไรทองคำอย่างไรดี?
- DW (Derivative Warrants) คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุนอย่างไรดี?
- อยากลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนดีๆ…เลือกลงทุนอะไรดี?
- อยากลงทุนระยะยาว ได้ผลตอบแทนดีๆ…เลือกลงทุนอะไรดี?
- วิธีการลงทุนและหารายได้เสริมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สามารถทำได้จริง!