การลงทุนไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องผลตอบแทนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาตัวเราได้ด้วยเพราะต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้ สำหรับคนที่มีเงินทุนอยู่แล้ว แต่ไม่อยากทำธุรกิจของตนเองเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน หรือล้มเหลว การลงทุนในกองทุนรวม ตราสารหนี้ หุ้น และการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ อีกหลากหลาย เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะความเสี่ยงน้อยกว่าการทำธุรกิจของตนเอง และได้ผลตอบแทนตามต้องการถ้าศึกษารายละเอียดและมีความระมัดระวังในการลงทุน
ประโยชน์ของการลงทุน
1. เพิ่มมูลค่าเงินที่มี
การลงทุนที่ถูกวิธีจะทำให้เงินที่เรามีอยู่งอกเงยโดยไม่ต้องลงแรงอะไรมากนัก เพียงแต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน เช่น การซื้อทองคำ ต้องซื้อในช่วงที่ราคาทองคำต่ำลง แล้วรอจนกว่าจะมีราคาสูงขึ้นจึงนำไปขาย ก็จะได้กำไรมาง่ายๆ หรือการลงทุนในที่ดิน ต้องมีข้อมูลความรู้ว่าในอนาคตจะมีการเวนคืนที่ดิน หรือจะมีการสร้างรถไฟฟ้าแล้วทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นหรือไม่
2. ลดความเสี่ยงเมื่อถึงภาวะเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ คือหน่วยเงินมีมูลค่าลดน้อยลง เช่น ซื้อของด้วยเงินเท่าเดิม แต่ได้ปริมาณของน้อยลง ซึ่งการลงทุนจะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อน้อยกว่าการเก็บออมเพียงอย่างเดียว เพราะจะมีเงินงอกเงยขึ้นตลอดเวลา และยังมีการลงทุนบางอย่างที่ภาวะเงินเฟ้อไม่มีผลด้วย เช่น ตราสารหนี้มีกองทุนที่มีนโยบายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ
3. เป็นหนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน
อิสรภาพทางการเงินคือการมีรายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ หรือการมี Passive Income นั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Passive Income) ถ้าเปรียบเป็นนักเขียนหนังสือชื่อดัง ก็จะได้ค่าลิขสิทธิ์จากจำนวนหนังสือเล่มที่ขายได้อยู่เรื่อยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเลย
4. ทำให้มีความรู้รอบตัวมากขึ้น
การลงทุนยังต้องศึกษาเรื่องอื่นๆ ที่มีผลต่อเรื่องเงินด้วย เช่น เศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีใหม่ๆ ค่าเงินแต่ละประเทศ สถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยพิบัติ สงคราม การเมือง เป็นต้น ดังนั้นการลงทุนจะทำให้มีความรู้เหล่านี้ตามไปด้วย
5. รู้จักธุรกิจต่างๆ มากขึ้น
การจะลงทุนอะไรสักอย่าง นอกจากจะต้องรู้เรื่องการลงทุนแล้ว ต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ องค์กร ที่เราจะร่วมลงทุนด้วย เช่น การลงทุนในหุ้น เราต้องรู้ว่าผู้ขายหุ้นนั้นทำธุรกิจอะไร กลยุทธ์และโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์แบบไหน และมีแนวโน้มทำกำไรได้แค่ไหน จะได้เงินปันผลเท่าไหร่ ถ้าไม่คุ้มเสี่ยงก็ไม่ควรค่าแก่การลงทุน
6. ทำให้มองแนวโน้มของเศรษฐกิจในอนาคตออก
การลงทุนจะทำให้เราต้องศึกษาหาความรู้ในหลายด้าน ดังนั้นจะสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้มากกว่าคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนมาก่อน เพราะจะทราบการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ได้ก่อน เช่น สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงเทรนด์การลงทุนของนักลงทุนก็ทำให้ประเมินกลับมาที่สภาพเศรษฐกิจได้เช่นกัน
7. ได้รู้จักกลุ่มคนที่ชอบการลงทุนเหมือนกัน
สำหรับมือใหม่ที่ต้องการคำแนะนำ การอ่านหนังสือหรือการหาข้อมูลตามอินเทอร์เน็ตอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการเข้าร่วมกรุ๊ปต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนในโซเชียลจะทำให้สามารถโพสต์สอบถามสิ่งที่สงสัยได้ และอาจจะได้รู้จักกับนักลงทุนคนอื่นๆ ที่สามารถให้คำแนะนำได้ หรือจะไปเข้าร่วมอบรมสนทนา การประชุมผู้ถือหุ้น การเยี่ยมชมกิจการ ก็จะทำให้พบปะผู้คนใหม่ๆ และได้สังคมใหม่ๆ เช่นกัน

ข้อควรระวังในการลงทุน
1. ต้องศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง
การลงทุนจะฝากวานให้คนอื่นช่วยลงทุน หรือเห็นเทรนด์การลงทุนว่าเขาลงทุนก็ลงทุนตามเขาไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีกำลังและความเหมาะสมในการลงทุนไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนด้วยตนเอง
2. ตั้งเป้าหมายในการลงทุน
การลงทุนแต่ละแบบมีผลตอบแทนที่แตกต่างกัน เช่น การลงทุนเพื่อที่จะมีเงินใช้หลังเกษียณ ก็เหมาะกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF ซึ่งจะไม่มีเงินปันผลในแต่ละปี แต่จะมีเงินเก็บไว้ใช้ในระยะยาวหลังเกษียณ หรือถ้าต้องการลงทุนเพื่อได้เงินมาใช้ในระยะสั้น การลงทุนในหุ้นก็จะเหมาะกว่า
3 .ประเมินความเสี่ยงและเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม
หลังตั้งเป้าหมายแล้ว ก่อนจะลงทุนต้องประเมินตนเองว่าสามารถลงทุนได้เท่าไหร่ รับความเสี่ยงได้เท่าไหร่ เพราะการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนน้อย ความเสี่ยงก็จะต่ำ แปลว่าเราจะไม่ต้องเสียเงินต้นในการลงทุน แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงก็จะสูงตาม และอาจทำให้สูญเงินลงทุนไปด้วยถ้าลงทุนพลาด เช่น การลงทุนในหุ้น ซึ่งการลงทุนแต่ละรูปแบบมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและระดับความเสี่ยง)
4. กระจายความเสี่ยง
การลงทุนในกองทุนเดียว หรือหุ้นเพียงตัวเดียว ถ้าขาดทุนขึ้นมาก็จะขาดทุนทั้งหมด ดังนั้นควรกระจายความเสี่ยงโดยเลือกลงทุนหลายๆ รูปแบบ
5. ต้องดูแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การลงทุนมีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ มากมาย ดังนั้นต้องประเมินสภาพสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตได้คร่าวๆ เพื่อวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ไม่เผชิญกับความเสี่ยงที่มากเกินไป
6. ระวังภาวะเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อคือภาวะที่ค่าเงินต่ำลง ทำให้ต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่สูงขึ้น การลงทุนโดยมองผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ หรือเลือกการลงทุนที่ภาวะเงินเฟ้อไม่มีผลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการลงทุน
จะเห็นได้ว่าการลงทุนมีประโยชน์มาก ดีกว่าออมเงินเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากเฉยๆ แน่นอน แต่ก่อนจะลงทุนก็ต้องศึกษาให้มาก และต้องไม่ประมาท มีความระวังในการลงทุน เพราะไม่อย่างนั้นจากที่จะได้เงินปันผล หรือผลตอบแทนตามที่คาด ก็อาจต้องสูญเงินลงทุนไปด้วยเช่นกัน
บทความแนะนำ
- รูปแบบการลงทุนและระดับความเสี่ยงในการลงทุน
- ประโยชน์ของการลงทุน และข้อควรระวังในการลงทุน
- กองทุนรวม (Mutual Fund) และ หุ้น (Stock) คืออะไร? แตกต่างกันอย่างไร?
- หุ้น (Stock) คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นเล่นหุ้นอย่างไรดี?
- ตราสารหนี้ (Bond) คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุนในตราสารหนี้อย่างไรดี?
- Forex คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นเทรด Forex อย่างไรดี?
- ลงทุนในทองคำ (Gold) มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุน เก็งกำไรทองคำอย่างไรดี?
- DW (Derivative Warrants) คืออะไร? มือใหม่จะเริ่มต้นลงทุนอย่างไรดี?
- อยากลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนดีๆ…เลือกลงทุนอะไรดี?
- อยากลงทุนระยะยาว ได้ผลตอบแทนดีๆ…เลือกลงทุนอะไรดี?
- วิธีการลงทุนและหารายได้เสริมสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่สามารถทำได้จริง!