การเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นความฝันของใครหลายๆ คน แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากทีเดียว เพราะต้องลองผิดลองถูก ลงทุนลงแรงอย่างมาก ซึ่งถ้าเรามีทางลัดก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า โดยในปัจจุบัน ทางลัดในการทำธุรกิจอย่างหนึ่งก็คือ การซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) นั่นเอง
เนื่องจากเจ้าของแฟรนไชส์จะมอบความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ การบริหารจัดการต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาศึกษาหรือลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ส่วนเจ้าของแฟรนไชส์ก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมต่างๆ ถือเป็นการเพิ่มรายได้จากต้นทุนความรู้ที่มี ดังนั้นแฟรนไชส์เป็นธุรกิจแบบหนึ่งที่น่าสนใจลงทุน ซึ่งต้องศึกษาก่อนว่ามีข้อดีข้อเสีย และวิธีการเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรบ้าง ลองมาดูกัน
แฟรนไซส์ (Franchise) คืออะไร?
แฟรนไชส์ คือ ระบบการทำธุรกิจที่เจ้าของธุรกิจซึ่งต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แล้วมอบสิทธิเครื่องหมายการค้า โดยถ่ายทอดรูปแบบการทำงานทั้งหมด เช่น ระบบการผลิต ระบบการขาย ให้กับผู้ร่วมธุรกิจ เพื่อให้ทุกสาขาของธุรกิจมีวิธีดำเนินการและมาตรฐานแบบเดียวกัน การทำแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งในการขยายตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจ โดยต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- แฟรนไชซอร์ (Franchisor) หรือ เจ้าของสิทธิ เป็นผู้คิดค้นวิธีการทำธุรกิจ และเป็นผู้ขายสิทธิในการทำการค้าภายใต้ชื่อธุรกิจของตนเอง โดยจะต้องเป็นผู้ถ่ายทอดรูปแบบการทำงานทุกอย่างให้แก่ผู้รับสิทธิ
- แฟรนไชซี (Franchisee) หรือ ผู้รับสิทธิ เป็นผู้ซื้อสิทธิในการทำการค้า โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการใช้ชื่อธุรกิจ (Franchise Fee) ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมเริ่มแรก ก่อนเริ่มดำเนินงาน
- ค่าธรรมเนียมเปอร์เซ็นต์ (Royalty Fee) เป็นค่าตอบแทนที่แฟรนไชซีต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องตามสัดส่วนของผลการดำเนินงาน อาจเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือจากยอดขาย
ข้อดีของธุรกิจแฟรนไซส์
ข้อดีของผู้ทำธุรกิจแฟรนไชส์ สำหรับแฟรนไชซอร์ (Franchisor) หรือ เจ้าของสิทธิ มีดังนี้
- ธุรกิจขยายเครือข่ายได้รวดเร็ว ใช้งบลงทุนน้อยและได้ค่าตอบแทนจากการขายแฟรนไชส์
- รับผิดชอบต่อความเสียหายน้อยลง
- มีอำนาจในการซื้อสินค้าทำให้ต้นทุนถูกลง
- ได้รับการรายงานผลประกอบการจากแฟรนไชซีในพื้นที่ เพื่อดูแลธุรกิจให้ได้มาตรฐาน
ส่วนข้อดีของสำหรับ แฟรนไชซี (Franchisee) หรือผู้รับสิทธิ มีดังนี้
- มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เนื่องจากแฟรนไชส์ซอร์ได้ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงมาก่อนแล้ว
- ประหยัดระยะเวลาในการเรียนรู้ ไม่ต้องลองผิดลองถูก
- มีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าและบริการในต้นทุนที่ถูกลง
- แฟรนไชซอร์เป็นผู้ดูแลในการโฆษณา ทำให้ไม่จำเป็นต้องลงทุนในส่วนนี้ด้วยตนเอง หรือบางรายอาจต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียม การโฆษณา (Advertising Fee) ตามข้อตกลง แต่ก็ไม่ต้องเสียเวลาทำด้วยตนเอง
- ได้รับคำปรึกษาและช่วยเหลือจากแฟรนไชซอร์ในการทำธุรกิจ ตามข้อตกลงตลอดอายุสัญญา
ข้อเสียของธุรกิจแฟรนไซส์
ข้อเสียของผู้ทำธุรกิจแฟรนไชส์ สำหรับแฟรนไชซอร์ (Franchisor) หรือ เจ้าของสิทธิ มีดังนี้
- มีภาระมากขึ้นเพราะต้องรับผิดชอบต่อแฟรนไชซี ต้องคอยดูแลและให้คำแนะนำในการทำธุรกิจ
- ถ้าไม่พร้อมหรือไม่มีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์ อาจทำให้ธุรกิจล้มเหลว
- อาจเกิดปัญหาจากแฟรนไชซีที่ขัดขืนกฎระเบียบต่างๆ เนื่องจากต้องการอิสระในการทำธุรกิจ และอาจทำให้เสียการควบคุม ไม่ได้มาตรฐานของธุรกิจ
- ต้องเปิดเผยวิธีการทำธุรกิจและเคล็ดลับต่างๆ ให้กับแฟรนไชซี
- มีค่าใช้จ่ายสูงในตอนเริ่มต้น ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเพื่อให้ขายแฟรนไชส์ได้ ตั้งทีมงาน จัดทำคู่มือต่างๆ
ส่วนข้อเสียสำหรับ แฟรนไชซี (Franchisee) หรือผู้รับสิทธิ มีดังนี้
- ไม่มีอิสระในการดำเนินธุรกิจ เพราะต้องทำตามรูปแบบที่แฟรนไชซอร์วางไว้เท่านั้น
- แม้การทำแฟรนไชส์มีโอกาสสำเร็จสูง แต่ก็ไม่มีหลักประกันความสำเร็จ เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอื่นๆ ด้วย
- ใช้เงินลงทุนสูงในการซื้อแฟรนไชส์
ควรพิจารณาเลือกธุรกิจแฟรนไซส์อย่างไรดี?
การจะทำธุรกิจอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ และเลือกจากสิ่งที่ตนเองมีความสนใจ ทั้งนี้ต้องเหมาะกับกำลังทรัพย์เริ่มต้นของตนเอง แต่ในกรณีที่ต้องการเลือกซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งมีวิธีการดำเนินการธุรกิจมาให้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือตรวจสอบข้อมูลของเจ้าของแฟรนไชส์ ว่าน่าเชื่อถือและจะไว้ใจได้หรือไม่ ดังนี้
- ประสบการณ์ในการทำแฟรนไชส์ของแฟรนไชซอร์มีมาอย่างน้อย 1 ปีแล้วหรือยัง รวมถึงอายุของบริษัทว่าเปิดมาได้กี่ปีแล้ว
- ตรวจสอบว่าธุรกิจนี้มีกี่สาขา เป็นที่รู้จักดีในตลาดหรือไม่
- แฟรนไชซอร์หรือเจ้าของสิทธิ ควรเป็นคนที่เข้ากับคุณได้ดี คุยกันถูกคอ จะทำให้สื่อสารเรื่องธุรกิจกันได้ราบรื่นขึ้น
- มีระบบการจัดการที่ดีในการทำธุรกิจ เช่น ตรงต่อเวลา นัดเป็นนัด เป็นต้น
- มีการพัฒนาธุรกิจและสินค้าอยู่เสมอ เพื่อให้เปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้บริโภคได้ทัน
การทำแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ซื้อสิทธิมาดำเนินธุรกิจ ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ที่เห็นได้ชัดคือการทำแฟรนไชส์จะเป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อของให้ได้ต้นทุนที่ถูก เพราะมีสาขามาก และแบรนด์เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ดังนั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการธุรกิจให้ดีนั่นเองซึ่งถ้าเรามีความรู้ความสนใจและความชอบในธุรกิจแฟรนไชส์นั้นอยู่แล้วก็จะทำให้เรามีความตั้งใจมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เลือกแต่ธุรกิจที่ชื่อดังเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเหมือนที่เจ้าของแฟรนไชส์คนอื่นๆ ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าลงทุน)
บทความแนะนำ
- E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไร? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร?
- Franchise (ธุรกิจแฟรนไซส์) คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
- Startup (สตาร์ทอัพ) คืออะไร? แตกต่างจาก SME (เอสเอ็มอี) หรือไม่?
- Pre-Order (พรีออเดอร์) และ Dropship (ดรอปชิป) คืออะไร? เลือกแบบไหนดี?
- MLM (ธุรกิจขายตรง) Network Marketing (ธุรกิจเครือข่าย) คืออะไร? ดีจริงหรือไม่?