ปัจจุบัน การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นเคยและนิยมอย่างมาก เพราะสะดวก รวดเร็ว เพียงเข้าเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ไปจนถึงโซเชียลมีเดียของร้านค้า แล้วกดสั่งซื้อ โอนเงินผ่าน Internet Banking เท่านี้ก็เรียบร้อย และรอรับของมาส่งถึงที่บ้านได้เลย ดังนั้นการทำธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหันมาสนใจกันมาก แล้วการทำ E-Commerce คืออะไร? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร?
E-Commerce คืออะไร?
E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ การทำธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการ การโฆษณา โดยมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือตัวกลาง ทั้งทางโทรศัพท์ โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต
ข้อดีของการทำธุรกิจแบบ E-Commerce คือ ช่วยลดต้นทุนในธุรกิจ เนื่องจากการทำธุรกิจโดยทั่วไปแล้วต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “หน้าร้าน” คือ ที่ตั้งร้านในการซื้อขายสินค้า โชว์สินค้า หรือให้บริการ รวมไปถึง “แรงงาน” คือพนักงานขาย พนักงานต้อนรับ และคนคอยดูแลร้าน เช็คสต็อก เป็นต้น การทำธุรกิจผ่านทางออนไลน์จะช่วยลดต้นทุนด้านนี้ลงไป เพราะสามารถโชว์รูปหรือวิดีโอของสินค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และซื้อขายกันได้เลย ช่วยให้สามารถทำธุรกิจในเวลาไหนก็ได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทางอีกต่อไป
ความแตกต่างระหว่าง E-Commerce และธุรกิจทั่วไป
- ไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน แต่จะเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี ขณะที่ธุรกิจทั่วไปมีการลงทุนหน้าร้าน แต่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี
- เข้าถึงลูกค้าได้ทั่วทุกมุมโลก และซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีระบบอัตโนมัติคอยช่วยเหลือ ขณะที่ธุรกิจทั่วไปต้องมีหน้าร้านเป็นหลักเป็นแหล่ง ทำให้ขายลูกค้าได้ไม่กี่กลุ่ม และการเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมงต้องใช้ต้นทุนแรงงานมาก
- สามารถทำงานได้แบบ Real Time ขณะที่ธุรกิจทั่วไปอาจมีประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารที่ช้ากว่า เช่น สินค้าหมดแต่ไม่สามารถแจ้งลูกค้าได้ เนื่องจากข้อมูลสต็อกสินค้าไม่อัพเดต เมื่อลูกค้ามาที่ร้านก็ทำให้เสียเวลาเดินทาง และอาจเสียลูกค้าไปด้วยเพราะทำให้เกิดความไม่พอใจ ขณะที่ธุรกิจ E-Commerce ลูกค้าสามารถเช็คได้ทันทีว่ามีสินค้าหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า
- มีมาตรฐานในการบันทึกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และธุรกิจที่เป็น E-Commerce เหมือนกันมักมีมาตรฐานแบบเดียวกัน ขณะที่ธุรกิจทั่วไปอาจมีมาตรฐานแตกต่างกันไป
- มีโอกาสทางธุรกิจสูงกว่าธุรกิจทั่วไป เพราะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า ขณะที่ธุรกิจทั่วไปอาจเข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หรือลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ
- กระจายสินค้าและบริการใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่าธุรกิจทั่วไป เนื่องจากธุรกิจทั่วไปจะใช้วิธีส่งสินค้าหรือบริการไปตามร้านหรือสาขาต่างๆ ซึ่งจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ช้ากว่า และลูกค้าอาจไม่ทราบข่าวหากไม่ได้มีการติดตามที่ร้านหรือสาขา
- ความน่าเชื่อถือทางธุรกิจจะน้อยกว่าธุรกิจทั่วไป หาก E-Commerce นั้นๆ ไม่ใช่แบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เพราะลูกค้าไม่สามารถเห็นสินค้าจริง ไม่สามารถทดลองสินค้าได้และไม่มีหน้าร้านหรือมีที่ตั้งของธุรกิจแน่นอน อาจเกิดการโกงเงินลูกค้าได้โดยง่าย หรือถ้าสินค้าไม่ได้คุณภาพก็ไม่สามารถขอคืนเงินได้ ลูกค้าจึงอาจยังไม่กล้าสั่งซื้อ
จะเห็นได้ว่าทั้ง E-Commerce และธุรกิจทั่วไปก็มีข้อโดดเด่นแตกต่างกันไป แต่ E-Commerce นั้นเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจมากกว่า เพราะถึงต้องใช้ต้นทุนทางเทคโนโลยี แต่ก็มีแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่งที่สามารถใช้บริการโดยเสียเงินหรือเสียแต่น้อยมาก ทำให้สามารถเริ่มต้นโปรโมตร้านให้คนทั่วไปรู้จักได้เร็วกว่าการทำธุรกิจทั่วไป อย่างไรก็ตามถ้าทำธุรกิจออนไลน์ควบคู่กับการทำธุรกิจทั่วไป คือ มีหน้าร้าน ก็จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อถือในธุรกิจมากกว่า เพราะสามารถเห็นสินค้าจริงได้นั่นเอง
บทความแนะนำ
- E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไร? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร?
- Franchise (ธุรกิจแฟรนไซส์) คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
- Startup (สตาร์ทอัพ) คืออะไร? แตกต่างจาก SME (เอสเอ็มอี) หรือไม่?
- Pre-Order (พรีออเดอร์) และ Dropship (ดรอปชิป) คืออะไร? เลือกแบบไหนดี?
- MLM (ธุรกิจขายตรง) Network Marketing (ธุรกิจเครือข่าย) คืออะไร? ดีจริงหรือไม่?