E-Marketplace ย่อมาจาก Electronic Marketplace คือ ตลาดซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่น โดยรวบรวมร้านค้าหลากหลายประเภทไว้ในที่เดียวกัน เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แต่งบ้าน ของใช้เกี่ยวกับเด็ก ของใช้เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
จุดเด่นของ E-Marketplace ก็คือผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อและผู้ขายสามารถค้าขายได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางออนไลน์ โดยผู้ขายสามารถนำข้อมูลธุรกิจและข้อมูลสินค้า ใส่ไว้ใน E-Marketplace ได้ในรูปแบบของแค็ตตาล็อกสินค้า ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้อย่างสะดวก และสามารถสั่งซื้อได้จากทุกมุมโลก นับเป็นการติดต่อค้าขายที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแบบอื่นๆ และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น
ข้อดีของ E-Marketplace
1. อัพเดตข้อมูลได้แบบ Real Time
เพื่อให้ลูกค้ารับรู้สถานะของสินค้าได้ทันที เช่น สินค้าหมดสต็อก หรือมีสินค้าใหม่มาเพิ่มในสต็อก เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ขายก็สามารถขายสินค้าใหม่ๆ ได้ทันที ส่วนลูกค้าก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลาถามถึงสินค้าที่ต้องการว่ามีหรือไม่ และช่วยป้องกันการสั่งซื้อสินค้าและจ่ายเงินโดยที่ไม่มีสินค้า ทำให้ต้องเสียเวลาในการแก้ไข ทั้งยังส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าด้วย
2. ไม่ต้องมีที่ตั้งร้านหรือหน้าร้าน
สามารถรับส่งสินค้าผ่านบริการขนส่ง โดยผู้ขายได้ลดต้นทุนในการเช่าหรือซื้อพื้นที่ การตกแต่งร้าน รวมถึงค่าแรงพนักงานต้อนรับหรือพนักงานขายสินค้า ส่วนลูกค้าก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาให้เสียเวลาและค่าเดินทาง
3. ซื้อ-ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สามารถเปิดขายสินค้าได้ตลอดเวลา ทำให้เพิ่มโอกาสในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ลูกค้าเองก็ไม่ต้องรอให้มีเวลาว่างจึงจะเดินทางมาซื้อสินค้าได้
4. ซื้อขายได้ทั่วโลก
ร้านค้าเป็นแบบออนไลน์ ลูกค้าจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ร้าน เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อก็สามารถติดต่อซื้อขายผ่านเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นได้เลย
5. มีระบบซื้อขายอัตโนมัติ
ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องคุยกับผู้ขายโดยตรง เพราะข้อมูลจะได้รับการบันทึกไว้ในระบบ ส่วนผู้ขายก็ไม่จำเป็นต้องเฝ้าอยู่ที่หน้าเว็บไซต์ตลอดเวลา เพียงแต่ควรเข้ามาเช็คบ่อยๆ เผื่อลูกค้ามีคำถาม หรือมีปัญหาอะไร จะได้ตอบรับและแก้ไขได้ทันท่วงที
6. ไม่เสียค่าใช้จ่าย
E-Marketplace ส่วนใหญ่จะให้ผู้ขายสามารถลงประกาศขายได้ฟรี แล้วเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่อเมื่อขายสินค้าได้แล้วเท่านั้น จึงทำให้ลดต้นทุนไปได้ ยิ่งถ้าเป็นเว็บไซต์ที่คนใช้งานเยอะอยู่แล้วก็ยิ่งประหยัดค่าโฆษณาด้วย
ตัวอย่าง E-Marketplace ยอดนิยมในไทย
1.Lazada
Lazada.co.th ก่อตั้งโดย Rocket Internet GmbH เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมา ปีพ.ศ. 2556 ได้พัฒนาเว็บไซต์ให้ผู้ขายเข้ามาขายสินค้าของตนเองมากขึ้น สินค้าหลักคือสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงสินค้าเกี่ยวกับความสวยงาม แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน เฟอร์นิเจอร์
ปี พ.ศ. 2559 แจ็คหม่า นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของจีน ผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์ Alibaba ได้เข้าซื้อกิจการ Lazada โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ Lazada ช่วยต่อยอดธุรกิจ Alibaba ที่ยังมียอดขายในประเทศจีนมากกว่า ให้ออกไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน Lazada เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ค้าขายออนไลน์มากกว่า 100,000 ร้านเลยทีเดียว
2. Shopee
Shopee.co.th ก่อตั้งโดย Forrest Li มีผู้ดูแลคือบริษัท Garena หรือที่คนไทยเรารู้จักกันดีในฐานะผู้ให้บริการเกมออนไลน์ชื่อดัง Shopee เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับ Lazada แต่เน้นการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือมากกว่า
สิ่งที่โดดเด่นของ Shopee คือ มีระบบ LiveChat ที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถแชทติดต่อกับผู้ขายได้โดยตรง และมีการแจกโค้ดส่วนลดหรือจัดแคมเปญแจก Coin ที่ใช้เป็นส่วนลดอยู่เป็นประจำ
3. JD Central
JD.co.th (JD Central) เป็น E-Marketplace ในไทยที่มาจากการร่วมมือกันของ JD.com และ Central Group ซึ่ง JD.com ก่อตั้งโดย ริชาร์ด หลิว โดยแรกเริ่มเป็นร้านขายอุปกรณ์ ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นร้านค้าออนไลน์เมื่อปี พ.ศ. 2547 และเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในจีน ว่ากันว่าเป็น Amazon เมืองจีน ที่เป็นคู่แข่งกับ Alibaba และ Lazada จุดเด่นของ JD Central คือมีการันตีแบรนด์สินค้าว่าเป็นของแท้ 100%
จะเห็นได้ว่า E-Marketplace เป็นสิ่งที่น่าจับตามองในวงการธุรกิจ และนักธุรกิจหลายคนเริ่มลงทุนในด้านนี้ ส่วนผู้ค้าขายก็ได้ประโยชน์ที่มีแพลตฟอร์มให้ลงขายสินค้าได้มากขึ้น ส่วนผู้ซื้อก็มีตัวเลือกให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าที่ไหนให้ความสะดวกสบาย หรือสิทธิพิเศษเช่น โค้ดลดราคาสินค้า บริการจัดส่งฟรี มากกว่ากัน ถือเป็นสนามรบทางธุรกิจที่ดุเดือดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
บทความแนะนำ
- E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไร? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร?
- E-Marketplace คืออะไร? มีข้อดีอย่างไร?
- Fulfillment คืออะไร? มีประโยชน์กับร้านค้าออนไลน์อย่างไร?
- Affiliate (แอฟฟิลิเอท) คืออะไร? Affiliate Marketing มีหลักการทำงานอย่างไร?
- เทคนิคปิดการขาย สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์
- ไอเดียจัดโปรโมชั่น เพิ่มยอดขายร้านค้าออนไลน์ให้ปัง!