ทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Blockchain (บล็อกเชน) ผ่านหูกันมาบ้าง หรือบางคนอาจจะเคยเห็นผ่านบทความข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้อ่านในช่วงไม่กี่ปีผ่านมานี้ เพราะ Blockchain ได้เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเรื่องสกุลเงินดิจิทัล อย่างพวก บิทคอยน์ ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงหนึ่ง ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจและสงสัยว่า คำว่า Blockchain (บล็อกเชน) แท้ที่จริงแล้วคืออะไร สามารถตามมาหาคำตอบได้ที่นี่!
Blockchain (บล็อกเชน) คืออะไร?

Blockchain (บล็อกเชน) คือ เทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่มาพร้อมกลไกในการจัดการฐานข้อมูลในระบบดิจิทัลแบบขั้นสูง ซึ่งสามารถแบ่งปันข้อมูลที่มีความโปร่งใสภายในเครือข่ายธุรกิจนั้น ๆ ได้ โดยบรรดาฐานข้อมูลเหล่านั้นจะถูกจัดเก็บเอาไว้ในกล่องหรือบล็อกที่มีการเชื่อมโยงกันเป็นทอด ๆ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ใน Blockchain จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือลบทิ้งได้ หากไม่ได้รับการยินยอมจากเครือข่าย
Blockchain (บล็อกเชน) มีหลักการทำงานอย่างไร?

- บันทึกข้อมูลลงใน Blockchain เมื่อใดที่มีข้อมูลเพิ่มขึ้นมาใหม่ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกบรรจุลงในกล่องเพื่อป้องกันการแก้ไขข้อมูล
- กระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายทั้งหมด เมื่อข้อมูลถูกบรรจุเรียบร้อยแล้ว ฐานข้อมูลหลักจะทำการกระจายข้อมูลนั้นไปยัง Node (ผู้เข้าร่วม) ทั้งหมดในเครือข่าย เพื่อสร้างความโปร่งใสและป้องกันข้อมูลสูญหาย
- ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง เมื่อผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลดังกล่าวแล้ว จะต้องทำการตรวจสอบและยืนยันว่าข้อมูลนั้นถูกต้องทุกประการ และจะต้องถูกยืนยันโดย Node (ผู้เข้าร่วม) ในเครือข่ายทั้งหมด เพราะหากมี Node ใดปฏิเสธ Node อื่น ๆ ก็จะปฏิเสธตามไปด้วย
- สร้างบล็อกและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างถาวร เมื่อข้อมูลในกล่องได้รับการยืนยันโดย Node (ผู้เข้าร่วม) ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลนั้นจะถูกบันทึกลงใน Blockchain แบบถาวรโดยทันที
Blockchain (บล็อกเชน) มีประโยชน์อย่างไรต่อธุรกิจ?

1. ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูล
เนื่องจากข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว่ใน Blockchain นั้นไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือลบทิ้งได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากเครือข่ายภายในทั้งหมด แถมกระบวนการการสร้าง Blockchain จะต้องอาศัยทั้งการเข้ารหัส การกระจายข้อมูล และการยืนยัน จึงทำให้การแก้ไขดัดแปลงข้อมูลที่อยู่ภายใน Blockchain แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
2. ข้อมูลมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ถือเป็นคุณสมบัติเด่นของ Blockchain เลยก็ว่าได้ เนื่องจากทุกคนในเครือข่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในระบบได้ แถมยังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะการเงินการธนาคาร และด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้นี้ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยดึงดูดและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการได้เป็นอย่างดี
3. เพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการทำงาน
เนื่องจาก Blockchain เป็นระบบที่ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางหรือหน่วยงานภายนอก ในการจัดการฐานข้อมูลหรือดำเนินการอะไรบางอย่าง จึงช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมนั้น ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แถมยังช่วยป้องกันความผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลสำคัญ ๆ เกี่ยวกับ Blockchain (บล็อกเชน) ที่ช่วยไขข้อสงสัยและทำให้ทุกคนรู้ว่าคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไรต่อธุรกิจบ้าง ซึ่งน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงคุณสมบัติเด่น ๆ ของ Blockchain ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า