พูดถึงบาร์โค้ด (Barcode) ใครๆ ก็ต้องนึกถึงเส้นตรงสีขาวดำที่เรียงสลับกันเป็นแถบ หนาบางแตกต่างกัน มักปรากฏอยู่บนสินค้า เมื่อซื้อสินค้าก็ต้องสแกนโค้ดนี้เพื่อให้สามารถคิดเงินได้ ซึ่งปัจจุบันบาร์โค้ดได้รับการพัฒนาจากเดิมมาก ทำให้บรรจุข้อมูลได้มากขึ้น และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกว่าเดิม
บาร์โค้ด (Barcode) คืออะไร?
บาร์โค้ด (Barcode) แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า “รหัสแท่ง” คือ รหัสที่ใช้แทนตัวเลขและตัวอักษร เป็นรหัสที่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยใช้การสแกนด้วยเครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode Scanner) ซึ่งจะลดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลได้มาก
บาร์โค้ดมีประโยชน์และใช้ทั่วไปในการค้าขาย โดยสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าสำเร็จรูป จะมีการตั้งรหัสเอาไว้และพิมพ์ออกมาเป็นบาร์โค้ดที่แพ็คเกจเพื่อให้บันทึกรายการสินค้าเมื่อเกิดการซื้อขายได้ง่ายขึ้นผ่านเครื่องอ่านบาร์โค้ด นอกจากนี้ยังใช้เก็บบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วย เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล
การพิมพ์บาร์โค้ดนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะโปรแกรมพิมพ์บาร์โค้ดในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งยังมีแบบให้ดาวน์โหลดฟรีด้วย หรือจะทำบาร์โค้ดในโปรแกรมพื้นฐานอย่าง Microsoft Excel ก็ได้ โดยนำข้อมูลไปกรอกบนโปรแกรมเพื่อสร้างเป็นบาร์โค้ด จากนั้นจึงพิมพ์ออกมาในรูปแบบของฉลาก สติ๊กเกอร์ หรือบนแพ็คเกจสินค้า ทั้งนี้แต่เดิมการสแกนข้อมูลต้องใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ด ปัจจุบันสามารถใช้งานผ่านการแสกนผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือได้เลย โดยเฉพาะ QR Code ที่เป็นบาร์โค้ด 2 มิติ
QR Code
ประเภทของบาร์โค้ด
บาร์โค้ด 1 มิติ (Barcode 1D)
บาร์โค้ด 1 มิติ เป็นที่คุ้นตาของคนทั่วไปมากที่สุด เพราะเป็นบาร์โค้ดที่พบเห็นได้ตามแพ็คเกจสินค้าอุปโภคบริโภค มีลักษณะเป็นเส้นสีดำสลับกับเส้นสีขาวเรียงขนานกัน โดยแต่ละเส้นมีความหนาบางไม่เท่ากัน ใช้แทนรหัสตัวเลขหรือตัวอักษร บรรจุข้อมูลได้ประมาณ 20 ตัวอักษร มักใช้คู่กับเครื่องอ่านบาร์โค้ด
บาร์โค้ด 2 มิติ (Barcode 2D)
บาร์โค้ด 2 มิติ พัฒนาจากบาร์โค้ด 1 มิติ มีทั้งเส้นแนวนอนและแนวตั้ง ทำให้บรรจุข้อมูลตัวอักษรได้ประมาณ 4,000 ตัวอักษร เหมาะแก่การบันทึกข้อมูล URL ของเว็บไซต์ที่มักยาวและจำยาก รวมทั้งบันทึกภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาอังกฤษได้ บาร์โค้ด 2 มิติที่คุ้นเคยคือ QR Code สามารถใช้ทั้งเครื่องอ่านบาร์โค้ด เครื่องอ่านแบบซีซีดี ไปจนถึงกล้องโทรศัพท์มือถือที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นถอดรหัสบาร์โค้ดเอาไว้
บาร์โค้ด 3 มิติ (Barcode 3D)
บาร์โค้ด 3 มิติ พัฒนาขึ้นเพื่อให้อยู่บนวัตถุได้นาน โดยสลักหรือยิงเลเซอร์ฝังบาร์โค้ดลงไปบนเนื้อวัตถุโดยตรง ทำให้มีความนูนสูงหรือนูนต่ำ มักพบในเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือเกี่ยวกับยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ประโยชน์บาร์โค้ดต่อธุรกิจ
- ช่วยให้การบันทึกข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำ ไม่เกิดความผิดพลาด
- สามารถทราบยอดของสินค้าในคลังได้ทันที
- เพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน
- ช่วยพัฒนาธุรกิจเพื่อการส่งออก เพราะบาร์โค้ดจะมีรหัสของแต่ละประเทศอยู่ ทำให้ทราบแหล่งผลิต และสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยตรง
- ปัจจุบันลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านบาร์โค้ด เช่น QR Code โดยตัดเงินผ่านบัญชีธนาคารของลูกค้า หรือบัตรเครดิต ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด สร้างความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างมาก
ปัจจุบัน บาร์โค้ด 2 มิติเป็นบาร์โค้ดที่เราพบเห็นได้บ่อยขึ้นรองลงมาจากบาร์โค้ด 1 มิติ เพราะบาร์โค้ด 2 มิติสามารถใช้มือถือสแกนเพื่อชำระเงินได้เลย ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องเงินทอน หรือต้องเดินไปกดเงินจาก ATM ให้เสียเวลา ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) นั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด)