ปัจจุบันนี้การขายอาหารแค่หน้าร้านอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยช่องทางการขายที่มีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการจัดส่งผ่านทางแอปพลิเคชันเดลิเวอรี แต่เจ้าของร้านอาหารหลายร้านก็ยังลังเลว่าจะนำร้านอาหารของเราไปลงในแอปฯ เหล่านี้ดีหรือไม่ วันนี้เรามีข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหลายคนตัดสินใจได้ว่าสมัครเป็นร้านอาหารกับแอปพลิเคชัน Food Delivery เพื่อรับออเดอร์เดลิเวอรีดีหรือไม่
การสมัครเป็นร้านอาหารกับแอปฯ Food Delivery
การใช้แอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ย่อมเป็นอีกทางที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับร้านอาหารได้เป็นอย่างมาก แต่ในข้อดีก็มีข้อเสียซ่อนอยู่เช่นกัน เรามาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของการสมัครเป็นร้านอาหารกับแอปฯ Food Delivery เพื่อช่วยในการตัดสินใจกันค่ะ
ข้อดี
- เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายพื้นที่ ด้วยบริการของแอปพลิชันที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงร้านอาหารได้มากขึ้น ทำให้มียอดขายสูงขึ้นไปด้วย
- ไม่ต้องหาคนส่งด้วยตนเอง ด้วยจำนวนผู้ขับรถส่งอาหารเป็นจำนวนมากจะช่วยให้อาหารไปถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
- ทำงานได้อย่างสะดวกเป็นระบบผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเปิด – ปิด หรือหยุดร้านชั่วคราวได้ด้วยตนเอง และยังตรวจสอบยอดขายผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
ข้อเสีย
- ปัญหาจากราคาไม่ตรงกัน เนื่องจากแอปพลิเคชันเก็บค่าคอมมิชชันจากยอดขายร้านอาหาร 15% – 30% ทำให้ร้านค้าหลาย ๆ ร้านต้องขึ้นราคาอาหารให้แอปให้สูงกว่าราคาจริง จึงอาจเกิดปัญหาความไม่พอใจจากลูกค้าตามมาได้หากราคานั้นแตกต่างกันมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดปัญหาการทำบัญชีของร้านเพราะราคาที่แตกต่างนี้ตามมาได้ด้วยจึงควรวางแผนการจัดการให้รอบคอบ
- รสชาติและคุณภาพอาหาร เนื่องจากการขนส่งอาหารอาจใช้เวลานานจนรสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงได้จนทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจได้
- การจัดคิวหน้าร้าน ออเดอร์ที่มาจากหลายทางก็อาจทำให้เกิดปัญหาการจัดการคิวระหว่างผู้จัดส่งที่มารอรับอาหารและลูกค้าหน้าร้านได้
แนะนำแอปฯ Food Delivery ยอดนิยม
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน Food Delivery ยอดนิยมอยู่หลักๆ 4 แอปซึ่งกำลังครองตลาดขนส่งอาหารอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแต่ละแอปฯ ก็จะมีจุดแข็งที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายและมีราคาค่าบริการที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
Grab (Grab Food)
แอปพลิเคชันยอดฮิตที่มีบริการหลากหลาย สะดวก รวดเร็วและยังมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย พร้อมโปรโมชันสุดคุ้มอีกมากมาย ขั้นตอนสมัครเป็นร้านอาหารกับ Grab มีดังนี้
- ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ร้านอาหารผ่านเว็บไซต์ที่ https://www.grab.com/th/merchant/food/
- รอรับสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอีเมล ซึ่งจะได้รับภายในวันศุกร์ หากลงทะเบียนในวันศุกร์จะได้รับสัญญาในวันศุกร์ถัดไป
- หากเอกสารสัญญาผ่านการตรวจสอบร้านอาหารจะได้รับ SMS เพื่อเรียนรู้วิธีการเปิดระบบร้านค้า
- ศึกษาขั้นตอนการเปิดระบบพาร์ทเนอร์ทาง SMS และดาวน์โหลดแอปฯ ร้านค้า เพิ่มเมนูอาหาร รูปภาพ ราคาในแอปฯ ร้านค้าให้สมบูรณ์ก่อนเปิดสถานะร้านค้าเพื่อรับออเดอร์
ทั้งนี้ Grab จะคิดค่าบริการจากร้านอาหารเป็นรายเดือนโดยคิดเป็นค่าคอมมิชชัน 30% จากยอดขายผ่าน Grab Food
Foodpanda
แอปพลิเคชันยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการเดลิเวอรีอาหารหลากหลาย Foodpanda เริ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกสำคัญของร้านอาหารหลายร้านในขณะนี้เนื่องจากมีโปรโมชันส่งฟรีที่ช่วยจูงใจลูกค้า ขั้นตอนสมัครเป็นร้านอาหารกับ Foodpanda มีดังนี้
- กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://www.restaurant.foodpanda.co.th/th
- รอการอนุมัติร้านอาหาร
- รับหนังสือสัญญาและเซ็นสัญญาสัญญากับ Foodpanda
- ตรวจสอบเมนูอาหารและรับแท็บเล็ตจาก Foodpanda
- รับคำแนะนำการใช้แท็บเล็ต
- เริ่มรับออเดอร์อาหารออนไลน์จาก Foodpanda
ทั้งนี้ทาง Foodpanda จะคิดค่าคอมมิชชัน 35% ก่อนหักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยร้านค้าจะได้รับแท็บเล็ตจาก Foodpanda อีกด้วย
Line Man
Line Man เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเป็นแอปฯ ที่ไม่มีค่าบริการพิเศษใด ๆ และร้านค้าสามารถตั้งราคาตามหน้าร้านได้ แต่แอปฯ จะคิดค่าบริการจัดส่งจากลูกค้าที่ซื้ออาหารโดยเพิ่มไปในราคาอาหารเอง ขั้นตอนสมัครเป็นร้านอาหารกับ Line Man มีดังนี้
- ดาวน์โหลด Wongnai Merchant App (RMS)
- กรอกข้อมูลร้านเพื่อลงทะเบียนลงใน Wongnai Merchant App (RMS)
- เพิ่มข้อมูลร้านให้ครบถ้วนและเลือกความสนใจ
- รอรับรหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตนหลังจากทะเบียนแล้วทางร้านจะได้รับรหัส OTP และคู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันผ่านทาง SMS หลังกรอก OTP ลงในแอปฯ จากนั้นกรอกข้อมูลร้านและเมนูและเริ่มรับออเดอร์ได้ทันที
ทาง Line Man ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครและการให้บริการและร้านค้าก็จะไม่ถูกหักเปอร์เซ็นใดๆ อีกด้วย แต่หากร้านค้าเข้าร่วมโครงการค่าส่ง 10 บาท จะมีค่าคอมมิชชัน 25% – 30%
Get (Get Food)
แอปพลิเคชันเดลิเวอรีหน้าใหม่ที่เพิ่มโอกาสให้ร้านอาหารเข้าถึงแอปได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดสถานการณ์ Covid-19 ระบาด Get ก็เปิดรับพาร์ทเนอร์รายใหม่ผ่านทางออนไลน์แล้วโดยขั้นตอนสมัครเป็นร้านอาหารกับ Get มีดังนี้
- กรอกข้อมูลลงทะเบียนเป็นร้านค้าพาร์ทเนอร์ที่เว็บไซต์ https://www.getthailand.com/merchant/
- กรอกสัญญาการเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Get Food กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับร้านอาหารและอัปโหลดเมนูของร้านเข้าสู่ระบบพิจารณา
- รับเอกสารผ่านทางออนไลน์ และดาวน์โหลดแอปฯ GoBiz เพื่อรับออเดอร์และตรวจสอบยอดขาย
- พร้อมรับออเดอร์อาหารออนไลน์บน Get Food
ทั้งนี้ Get จะคิดค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหารเป็นจำนวน 30% โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%
จะเห็นแล้วว่าแอปพลิเคชัน Food Delivery นั้นมีความสะดวกสบายคนละรูปแบบขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ของแอปฯ นั้นๆ รวมถึงเงื่อนไขและค่าบริการที่ช่วยจูงใจผู้ซื้อและผู้ขายที่แตกต่างกันออกไป จากข้อมูลเหล่านี้ผู้ประกอบการร้านอาหารคงต้องไปคิดกันต่อแล้วว่าจะเลือกแอปพลิเคชันไหนที่เหมาะกับรูปแบบอาหารของเรามากที่สุดและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด