การมีธุรกิจเป็นของตัวเองเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะถือว่าได้เป็นเจ้านายตัวเอง สามารถบริหารจัดการทุกอย่างได้ตามต้องการ แต่กว่าจะไปถึงจุดที่ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ก็ต้องผ่านอุปสรรคหลายด้าน ต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ต้องสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของลูกค้า ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ควรทำเมื่อเริ่มทำธุรกิจอะไรสักอย่าง การจดทะเบียนการค้าคือการการันตีธุรกิจของคุณว่าได้เริ่มต้นกิจการอย่างถูกต้องและเปิดเผย มีที่ตั้งของกิจการชัดเจน ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากคู่ค้าและลูกค้าของคุณมากขึ้น แต่การจดทะเบียนการค้าก็มีทั้งแบบบุคคลธรรมดาและแบบนิติบุคคล ซึ่งเหมาะกับธุรกิจแตกต่างกันไป

จดทะเบียนการค้าแบบบุคคลธรรมดา
การจดทะเบียนการค้าแบบบุคลธรรมดา เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว มีกิจการขายสินค้าหรือบริการที่มีรายได้หรือมูลค่าของกิจการไม่สูงมาก ไม่ได้ติดต่อการทางการค้าหรือทำนิติกรรมสัญญามากนัก การตัดสินใจต่างๆ ในกิจการเป็นสิทธิของเจ้าของเพียงคนเดียว การจดทะเบียนแบบบุคคลธรรมดาจะช่วยให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ในเรื่องของเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาอาจไม่มีเงินหมุนเวียนเพราะเจ้าของธุรกิจมีคนเดียว เรื่องกำไรหรือขาดทุนก็ต้องรับผิดชอบเอง ส่วนการเสียภาษีนั้น เป็นการเสียภาษีแบบอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งรายได้มาก ยิ่งเสียภาษีมาก โดยต้องเสียภาษีสูงสุด 35% ของกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย แต่ก็สามารถใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อนส่วนตัวต่างๆ ได้
จดทะเบียนการค้าแบบนิติบุคคล
การจดทะเบียนการค้าแบบนิติบุคคล ต้องมีผู้ร่วมธุรกิจ 2 คนขึ้นไป เมื่อจดทะเบียนแล้วในทางกฎหมายถือว่าตัวธุรกิจแยกออกโดยเด็ดขาดกับความเป็นบุคคลธรรมดาของเจ้าของกิจการ ความหมายก็คือ การกระทำใดๆ ในธุรกิจ จะเป็นไปในนามของกิจการทั้งหมด เสมือนเป็นอีกบุคคลตามกฎหมาย แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ บริษัทจำกัด
1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership)
ธุรกิจประเภทนี้มีลักษณะคล้ายกับธุรกิจที่จดทะเบียนแบบบุคคลธรรมดา คือเหมาะกับกิจการค้าขายที่มีรายได้หรือมูลค่าของกิจการไม่สูงมาก และไม่ได้ติดต่อทางการค้าหรือทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ มากนัก แต่มีผู้ร่วมธุรกิจตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบในหนี้สินไม่จำกัดจำนวนร่วมกัน
ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จะมีสถานะเป็นคณะบุคคล ถ้าหากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะเรียกกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (Registered Ordinary Partnership)”
ส่วนการเสียภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญ จะเสียภาษีเงินได้เหมือนกับบุคคลธรรมดาที่แยกออกจากตัวบุคคล ถือเป็นบุคคลอีกคนหนึ่ง
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership)
ธุรกิจประเภทนี้เหมาะกับกิจการที่มีรายได้หรือมูลค่ากิจการสูง และต้องติดต่อและทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ โดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน หุ้นส่วนจะแบ่งได้ 2 แบบ ตามความรับผิดชอบคือ
- หุ้นส่วนแบบรับผิดชอบในหนี้สินจำกัด คือ รับผิดชอบไม่เกินเงินที่ได้ลงทุน แต่จะไม่มีสิทธิการตัดสินใจในกิจการ
- หุ้นส่วนแบบรับผิดชอบในหนี้สินไม่จำกัด คือ รับผิดชอบในหนี้สินไม่จำกัดจำนวน แต่มีหน้าที่และสิทธิในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของกิจการ
ส่วนการเสียภาษีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องจัดทำบัญชีเหมือนกรณีตั้งบริษัท
3. บริษัทจำกัด (Company Limited)
ธุรกิจที่มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปมาร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการผู้ถือหุ้นร่วมกันในจำนวนเท่าๆ กัน โดยต้องรับผิดชอบในหนี้ร่วมกันไม่เกินจำนวนเงินที่ลงทุน และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เหมาะกับกิจการที่มีรายได้หรือมูลค่าสูง มีการติดต่อทางการค้าและทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ มากมาย ทั้งนี้การจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดยังช่วยให้กิจการมีภาพลักษณ์ที่ดี และสามารถเติบโตได้อย่างเป็นสากล เพราะมีการบริหารและตัดสินใจรูปแบบของคณะกรรมการบริษัท
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดลดลงอาจทำให้การดำเนินงานของบริษัทติดขัดและอาจเป็นเหตุให้ยกเลิกบริษัทได้ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง เพราะจำเป็นต้องมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตเพื่อมาทำบัญชีของบริษัท ในส่วนของภาษีต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหมือนกับห้างหุ้นส่วนจำกัด
จะเห็นได้ว่าการจดทะเบียนการค้าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายกิจการ เพราะช่วยให้มีความเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้กิจการมีความมั่นคงเพราะมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น รวมถึงยังทำให้ทุกอย่างชัดเจนถูกต้องตามกฎหมาย อย่างเช่น ขอบเขตการรับผิดชอบของหุ้นส่วนแต่ละคน และอัตราการเสียภาษีในธุรกิจ
บทความแนะนำ
- E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไร? แตกต่างกับธุรกิจทั่วไปอย่างไร?
- Franchise (ธุรกิจแฟรนไซส์) คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
- Startup (สตาร์ทอัพ) คืออะไร? แตกต่างจาก SME (เอสเอ็มอี) หรือไม่?
- Pre-Order (พรีออเดอร์) และ Dropship (ดรอปชิป) คืออะไร? เลือกแบบไหนดี?
- MLM (ธุรกิจขายตรง) Network Marketing (ธุรกิจเครือข่าย) คืออะไร? ดีจริงหรือไม่?